ความหมายและชนิดของฉันท์

ความหมายและชนิดของฉันท์

 

          ช่วงนี้นักเรียนกำลังเรียนเรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์”  อันเป็นการสรุปบทเรียนอีกทางหนึ่งเพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องฉันท์  บล็อกการศึกษาเรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์จึงนำความรู้ที่ครูเรียบเรียงขึ้นมานี้นำเสนอให้นักเรียนได้อ่านทำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง ครับ

 

ความหมายของฉันท์

          ฉันท์ คือ ลักษณะคำประพันธ์ (บทร้อยกรอง) ประเภทหนึ่ง  โดยนักประพันธ์ได้บรรจงร้อยกรองขึ้นเพื่อให้เกิดความไพเราะ  เกิดจินตภาพ  ซาบซึ้งในคำประพันธ์   โดยกำหนดฉันทลักษณ์ด้วยเสียงครุ-ลหุ และสัมผัสไว้เป็นแบบแผนโดยเฉพาะ ๆ  ต่างกันไปตามชื่อของฉันท์
ฉันท์มีชื่อต่าง ๆ  จำนวนมาก  ตามที่ปรากฏในคัมภีร์วุตโตทัยมีจำนวน ๑๐๘ ฉันท์ แต่ไทยเราดัดแปลงเอามาใช้  และก็ไม่ได้นำมาใช้ทั้งหมด จะเลือกเอาฉันท์ที่เห็นว่าไพเราะ  มีทำนองอ่านสละสลวย  ในคำฉันท์เก่า ๆ  ที่นิยมแต่งกัน ได้แก่

                    – อินทรวิเชียรฉันท์

                    – สัททุลวิกกีฬิตฉันท์

                    – สัทธราฉันท์

                    – วสันตดิลกฉันท์

                    – มาลินีฉันท์

                    – โตฎกฉันท์

          การแต่งฉันท์  ต้องบรรจุพยางค์หรือคำให้ครบ  ตามจำนวนพยางค์หรือคำที่ระบุไว้ จะบรรจุคำให้เกินกว่ากำหนด  เหมือนการแต่ง โคลง กลอน และกาพย์ไม่ได้   ปัจจุบันคำใดที่กำหนดไว้ว่าเป็นครุและลหุจะต้องเป็นครุและลหุจริง ๆ จะใช้ครุและลหุผิดที่ไม่ได้ คำ  เดิมนั้น  คำว่า  บ ก็  คำที่ประสมด้วย สระอำ ในแม่ ก กา ก็ดี  ใช้เป็นลหุได้ แต่ปัจจุบันคำที่ประสมด้วยสระอำไม่นิยมใช้กันแล้ว เพราะถือว่าเป็นคำที่มีเสียงตัวสะกด /ม/  อยู่ด้วย

ชื่อฉันท์ต่าง ๆ  ในวรรณกรรมของไทยที่นักเรียนควรรู้จักชื่อไว้และศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ  มีดังนี้

 

ชนิดของฉันท์

ฉันท์ ๘

๑.  จิตรปทาฉันท์ ๘

๒.  ปมาณิกฉันท์ ๘

๓.  มาณวกฉันท์ ๘

๔.  วิชชุมาลาฉันท์ ๘

 

ฉันท์ ๑๑

๕.  สาลินีฉันท์ ๑๑

๖.  อาขยานิกาฉันท์ ๑๑

๗.  อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

๘.  อุปัฏฐิตาฉันท์ ๑๑

๙.  อุปชาติฉันท์ ๑๑

๑๐.  อุเปนทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

 

ฉันท์ ๑๒

๑๑. กมลฉันท์ ๑๒

๑๒. โตฎกฉันท์ ๑๒

๑๓. ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒

๑๔. วังสัฏฐฉันท์ ๑๒

๑๕. อินทวงสฉันท์ ๑๒

 

ฉันท์ ๑๔

๑๖. วสันตดิลกฉันท์ ๑๔

 

ฉันท์ ๑๕

๑๗. ประภัททกฉันท์ ๑๕

๑๘. มาลินีฉันท์ ๑๕

 

ฉันท์ ๑๖

๑๙. วาณินีฉันท์ ๑๖

 

ฉันท์ ๑๘

๒๐. กุสุมิตลดาเวลลิตาฉันท์ ๑๘

 

ฉันท์ ๑๙

๒๑. เมฆวิปผุชชิตาฉันท์ ๑๙

๒๒. สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙

 

ฉันท์ ๒๐

๒๓. อีทิสฉันท์ ๒๐

 

ฉันท์ ๒๑

๒๔. สัทธราฉันท์ ๒๑

 

ฯลฯ

 

โดย  ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร

สัทธราฉันท์ ๒๑

สัทธราฉันท์ ๒๑

แผนผังบังคับสัทธราฉันท์ ๒๑

ฉันทลักษณ์สัทธราฉันท์ ๒๑

สัทธราฉันท์  (อ่านว่า  สัด-ทะ-ทะ-รา-ฉัน)  เป็นชื่อฉันท์อย่างหนึ่ง ไม่มีความหมายตามที่ระบุไว้ในพจนานุกรมไทย  แต่เรามาพินิจภาษาคำนี้ดูนะครับว่า   สัทธราฉันท์  มีความหมายว่าอย่างไร

สัทธราฉันท์  ไม่มีความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  เมื่อพินิจภาษาดูให้ดีแล้ว จะพบว่าคำนี้มาจากคำว่า  สัท  รวมกับคำว่า  ธรา   เป็นคำมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต  ซึ่ง  สัท  หมายถึง  เสียง   ธรา  เป็นคำโบราณ  หมายถึง  แผ่นดิน

สัทธรา  จึงน่ามีความหมายว่า  “ฉันท์ที่มีลีลาประดุจเสียงร้องจากแผ่นดิน (ดินพิโรธ)”    ซึ่งฉันท์ประเภทนี้ใช้สำหรับดำเนินเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความแตกแยก  โดยเฉพาะเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์  ซึ่งใช้เป็นบทดำเนินเรื่องตอนที่กษัตริย์ลิจฉวีแตกสามัคคี
คณะและพยางค์ 

สัทธราฉันท์  ๑  บท ประกอบด้วยคณะและพยางค์  ดังนี้
มี ๒ บาท

บาทที่  ๑   มีจำนวน  ๑๔  คำ/พยางค์

บาทที่  ๒   มีจำนวน  ๗  คำ/พยางค์

หรือ

มี  ๔ วรรค

วรรคที่  ๑   มีจำนวน  ๗  คำ/พยางค์

วรรคที่  ๒   มีจำนวน  ๗  คำ/พยางค์

วรรคที่  ๓   มีจำนวน  ๔  คำ/พยางค์

วรรคที่  ๔   มีจำนวน  ๓  คำ/พยางค์

๑  บท  นับจำนวนคำได้  ๒๑  คำ/พยางค์   ดังนั้น  จึงเขียนเลข  ๒๑ หลังชื่อ      สัทธราฉันท์ นี่เองครับ   แต่นักเรียนต้องสังเกตที่ครุ-ลหุ   ในแต่ละบาทจะปรากฏคำครุ-  คำลหุ  ดังนี้

วรรคที่  ๑   เป็นครุในคำที่  ๑,  ๒,  ๓,  ๔,  ๖,  ๗    เป็นลหุในคำที่  ๕

วรรคที่  ๒   เป็นครุในคำที่  ๗,    เป็นลหุในคำที่  ๑,  ๒,  ๓,  ๔,  ๕,  ๖

วรรคที่  ๓   เป็นครุในคำที่  ๑,  ๓,  ๔   เป็นลหุในคำที่  ๒

วรรคที่  ๔   เป็นครุในคำที่  ๒,  ๓   เป็นลหุในคำที่  ๑

สัมผัส

พบว่า  สัทธราฉันท์   มีสัมผัสนอก  (ที่เป็นสัมผัสภายในบท)  จำนวน  ๒  แห่ง ดังนี้

๑.  คำสุดท้ายของวรรคที่  ๑   ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายที่  ๒

๒.  คำสุดท้ายของวรรคที่  ๒  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่  ๓

          สัมผัสระหว่างบท  พบว่า  คำสุดท้ายของบท  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่  ๒  ในบทต่อไป

          คำครุ  ลหุ   สัทธราฉันท์   ๑  บท  มีคำครุทั้งหมด  ๑๒  คำ/พยางค์  และมีคำลหุทั้งหมด  ๙  คำ/พยางค์   ให้นักเรียนสังเกตสัมผัสบังคับ  (สัมผัสนอก)  และบังคับครุ-ลหุ  สัทธราฉันท์  ๒๑  ตามผังภาพ

คำครุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ั

       คำลหุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ุ    ให้นักเรียนดูตัวอย่างตามผังภาพ ครับ

แผนผังบังคับและตัวอย่างคำประพันธ์สัทธราฉันท์ ๒๑

ตัวอย่างคำประพันธ์สัทธราฉันท์ ๒๑

อุเปนทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

อุเปนทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

แผนผังบังคับอุเปนทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

ฉันทลักษณ์อุเปนทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

อุเปนทรวิเชียรฉันท์  (อ่านว่า  อุ-เปน-ทฺระ-วิ-เชียน-ฉัน)  เป็นชื่อฉันท์อย่างหนึ่ง มีความหมายว่า  “ฉันท์ที่มีลีลาคล้ายหรือรองจากอินทรวิเชียรฉันท์”    ซึ่งฉันท์ประเภทนี้ใช้สำหรับดำเนินเรื่องอย่างธรรมดา
คณะและพยางค์ 

อุเปนทรวิเชียรฉันท์  ๑  บท ประกอบด้วยคณะและพยางค์  ดังนี้
มี ๒ บาท  วรรคหน้ามีจำนวน  ๕  คำ/พยางค์   และวรรคหลังมีจำนวน  ๖  คำ/พยางค์

๑  บาท  นับจำนวนคำได้  ๑๑  คำ/พยางค์   ดังนั้น  จึงเขียนเลข  ๑๑ หลังชื่อ      อุเปนทรวิเชียรฉันท์ นี่เองครับ   แต่นักเรียนต้องสังเกตที่ครุ-ลหุ  (มีฉันทลักษณ์ที่คล้ายอินทรวิเชียรฉันท์มาก)  ในแต่ละบาทจะปรากฏคำครุ-  คำลหุ  ดังนี้

วรรคหน้าเป็นครุในคำที่  ๒,  คำที่  ๔  และ  คำที่  ๔    เป็นลหุในคำที่  ๑  และ  คำที่  ๓

วรรคหลังเป็นครุในคำที่  ๓,  คำที่  ๕  และ  คำที่  ๖    เป็นลหุในคำที่  ๑,  คำที่  ๒  และ  คำที่  ๔

อุเปนทรวิเชียรฉันท์   ๑  บทมีจำนวนทั้งสิ้น  ๒๒  คำ/พยางค์

สัมผัส

พบว่า  อุเปนทรวิเชียรฉันท์   มีสัมผัสนอก  (ที่เป็นสัมผัสภายในบท)  จำนวน  ๒  แห่ง ดังนี้

๑.  คำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่  ๑   ส่งสัมผัสกับคำที่  ๓  ของ วรรคหลังในบาทเดียวกัน

๒.  คำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทที่  ๑  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่  ๒

          สัมผัสระหว่างบท  พบว่า  คำสุดท้ายของบท  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทที่ ๑  ของบทต่อไป

          คำครุ  ลหุ   อุเปนทรวิเชียรฉันท์   ๑  บท  มีคำครุทั้งหมด  ๑๒  คำ/พยางค์  และมีคำลหุทั้งหมด  ๑๐  คำ/พยางค์   ให้นักเรียนสังเกตสัมผัสบังคับ  (สัมผัสนอก)  และบังคับครุ-ลหุ  อุเปนทรวิเชียรฉันท์  ๑๑  ตามผังภาพ

         คำครุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ั

       คำลหุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ุ    ให้นักเรียนดูตัวอย่างตามผังภาพ ครับ

แผนผังบังคับและตัวอย่างคำประพันธ์อุเปนทรวิเชียรฉันท์ 11

ตัวอย่างคำประพันธ์อุเปนทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

มาณวกฉันท์ ๘

มาณวกฉันท์ ๘

แผนผังบังคับมาณวกฉันท์ ๘

ฉันทลักษณ์มาณวกฉันท์ ๘

มาณวกฉันท์  (อ่านว่า  มา-นะ-วะ-กะ-ฉัน)  เรามาพินิจภาษาคำนี้ดูนะครับว่า   มาณวกฉันท์  มีความหมายว่าอย่างไร

มาณวกฉันท์  ไม่มีความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  แต่หากพินิจภาษาดูให้ดีแล้วนะครับ  จะพบว่าคำนี้มาจากคำว่า  มาณพ  แผลง พ  เป็น  ว  เป็นคำมาจากภาษาบาลีสันสกฤต  หมายถึง  ผู้เป็นชายหนุ่ม,  ผู้เป็นชายรุ่น

มาณวกฉันท์ ๘  จึงเป็นชื่อฉันท์อย่างหนึ่ง ควรจะมีความหมายถึง  “ฉันท์ที่มีลีลาเหมือนผู้เป็นชายหนุ่มในลักษณะที่กระฉับกระเฉง”    ซึ่งฉันท์ประเภทนี้ใช้สำหรับบรรยายเรื่องที่รวดเร็ว  เวลาอ่านได้รับรสรู้สึกว่าผาดโผน  เกิดความรื่นเริงและตื่นเต้น
คณะและพยางค์ 

มาณวกฉันท์    ๑  บท ประกอบด้วยคณะและพยางค์  ดังนี้
มี ๔ บาท  วรรคหน้ามีจำนวน  ๔  คำ/พยางค์   และวรรคหลังมีจำนวน  ๔  คำ/พยางค์  เช่นเดียวกับวรรคหน้า

๑  บาท  นับจำนวนคำได้  ๘  คำ/พยางค์   ดังนั้น  จึงเขียนเลข  ๘ หลังชื่อ      มาณวกฉันท์ นี่เองครับ   แต่นักเรียนต้องสังเกตที่ครุ-ลหุ  ในแต่ละบาทจะปรากฏคำครุ-  คำลหุ  ดังนี้

วรรคหน้าเป็นครุในคำที่  ๑  และ  คำที่  ๔    เป็นลหุในคำที่  ๒  และ  คำที่  ๓

วรรคหลังเป็นครุในคำที่  ๑  และ  คำที่  ๔    เป็นลหุในคำที่  ๒  และ  คำที่  ๓  เช่นเดียวกันกับวรรคหน้า

มาณวกฉันท์   ๑  บทมีจำนวนทั้งสิ้น  ๓๒  คำ/พยางค์

สัมผัส

พบว่า  มาณวกฉันท์  มีสัมผัสนอก  (ที่เป็นสัมผัสภายในบท)  จำนวน  ๕  แห่ง ดังนี้

๑.  คำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่  ๑   ส่งสัมผัสกับคำที่  ๑  ของ วรรคหลังในบาทเดียวกัน

๒.  คำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทที่  ๑  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่  ๒

๓.  คำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทที่  ๒  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทที่  ๓

๔.  คำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่  ๓  ส่งสัมผัสกับคำที่  ๑  ของวรรคหลังในบาทเดียวกัน

๕.  คำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทที่  ๓  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่  ๔

          สัมผัสระหว่างบท  พบว่า  คำสุดท้ายของบท  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทที่  ๒  ของบทต่อไป

          คำครุ  ลหุ   มาณวกฉันท์   ๑  บท  มีคำครุทั้งหมด  ๑๖  คำ/พยางค์  และมีคำลหุทั้งหมด  ๑๖  คำ/พยางค์   ให้นักเรียนสังเกตสัมผัสบังคับ  (สัมผัสนอก)  และบังคับครุ-ลหุ  มาณวกฉันท์  ๘  ตามผังภาพ

คำครุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ั

       คำลหุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ุ    ให้นักเรียนดูตัวอย่างตามผังภาพ ครับ

แผนผังบังคับและตัวอย่างคำประพันธ์มาณวกฉันท์ 8

ตัวอย่างคำประพันธ์มาณวกฉันท์ ๘

ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒

ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒

แผนผังบังคับภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒

ฉันทลักษณ์ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒

 

ภุชงคประยาตฉันท์  (อ่านว่า  พุ-ชง-คะ-ปฺระ-ยา-ตะ-ฉัน หรือ  พุ-ชง-คะ-ปฺระ-ยาด-ฉัน)  แปลความตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ภุชงค์ หมายถึง  งู  หรือ  นาค   โดยรวมให้ความหมายว่า  ชื่อฉันท์แบบหนึ่งมี ๑๒ คํา แบ่งเป็น ๒ วรรค มีลหุ  ต้นวรรคและกลางวรรค   หากฟังลีลาจากการอ่านภุชงคประยาตฉันท์  แล้วจะพบว่าฉันท์ชนิดนี้มีลีลาเหมือนอาการของงูกำลังเลื้อย
คณะและพยางค์ 

ภุชงคประยาตฉันท์  ๑  บท ประกอบด้วยคณะและพยางค์  ดังนี้
มี ๒ บาท  วรรคหน้ามีจำนวน  ๖  คำ/พยางค์   และวรรคหลังมีจำนวน  ๖  คำ/พยางค์

๑  บาท  นับจำนวนคำได้  ๑๒  คำ/พยางค์   ดังนั้น  จึงเขียนเลข  ๑๒ หลังชื่อ   ภุชงคประยาตฉันท์  นี่เองครับ

ทั้งบทมีจำนวนคำทั้งสิ้น  ๒๔  คำ

สัมผัส

พบว่า  ภุชงคประยาตฉันท์  มีสัมผัสนอก  (ที่เป็นสัมผัสภายในบท)  จำนวน  ๒  แห่ง ได้แก่

๑.  คำสุดท้ายของวรรคหน้า  บาทที่  ๑   ส่งสัมผัสกับคำที่ ๓  ของ วรรคหลังในบาทเดียวกัน

๒.  คำสุดท้ายของวรรคหลัง  บาทที่  ๑   ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของ วรรคหน้าในบาทที่  ๒

          สัมผัสระหว่างบท  พบว่า  คำสุดท้ายของบท  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ วรรคหลังของบาทที่  ๑  ในบทต่อไป

          คำครุ  ลหุ   ภุชงคประยาตฉันท์  ๑  บท  มีคำครุทั้งหมด  ๑๖  และมีคำลหุทั้งหมด  ๘  คำ   รวมทั้งบทมีจำนวนคำบังคับ  ๒๔  คำ  ให้นักเรียนสังเกตสัมผัสบังคับ  (สัมผัสนอก)  และบังคับครุ-ลหุ  ภุชงคประยาตฉันท์  ๑๒  ตามผังภาพ

คำครุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ั

       คำลหุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ุ    ให้นักเรียนดูตัวอย่างตามผังภาพ ครับ

แผนผังบังคับและตัวอย่างคำประพันธ์ภุชงคประยาตฉันท์ 12

ตัวอย่างคำประพันธ์ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒

จิตระปทาฉันท์ ๘

จิตรปทาฉันท์ ๘/จิตระปทาฉันท์ ๘

แผนผังบังคับจิตระปทาฉันท์ ๘

จิตระปทาฉันท์  (อ่านว่า  จิ-ตฺระ-ปะ-ทา-ฉัน)  เรามาพินิจภาษาคำนี้ดูนะครับว่า   จิตระปทา  มีความหมายว่าอย่างไร

จิตระปทา  ไม่มีความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  แต่หากพินิจภาษาดูให้ดีแล้วนะครับ  จะพบว่าคำนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่   โดยมีลีลาบังคับในวรรคหน้าเป็น    “ครุ  ลหุ  ลหุ  ครุ”   ดังนั้น  จึงต้องอ่านคำว่า จิตระปทา  อ่านเป็น  จิ-ตฺระ-ปะ-ทา-ฉัน   เพื่อให้ตรงตามหลักฉันทลักษณ์

จิตระปทา  น่าจะมาจากคำว่า  จิตร  ซึ่งหมายถึง  งดงาม,  สดใส,  ที่งดงาม  และกับคำว่า  บท  ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาบาลีในคำว่า  ปท  แปลว่า  คราว,  ตอน

จิตระปทาฉันท์ ๘  จึงเป็นชื่อฉันท์อย่างหนึ่ง ควรจะมีความหมายถึง  “ตอนที่งดงาม,  บทแสดงอาการทางจิตใจ”
คณะและพยางค์ 

จิตระปทาฉันท์    ๑  บท ประกอบด้วยคณะและพยางค์  ดังนี้
มี ๒ บาท  วรรคหน้ามีจำนวน  ๔  คำ/พยางค์   และวรรคหลังมีจำนวน  ๔  คำ/พยางค์  เช่นเดียวกัน

๑  บาท  นับจำนวนคำได้  ๘  คำ/พยางค์   ดังนั้น  จึงเขียนเลข  ๘ หลังชื่อ      จิตระปทาฉันท์   นี่เองครับ   แต่นักเรียนต้องสังเกตที่ครุ-ลหุ  ในแต่ละบาทจะปรากฏคำครุลหุ  ดังนี้

วรรคหน้าเป็นครุในคำที่  ๑  และ  คำที่  ๔    เป็นลหุในคำที่  ๒  และ  คำที่  ๓

วรรคหลังเป็นครุในคำที่  ๓  และ  คำที่  ๔    เป็นลหุในคำที่  ๑  และ  คำที่  ๒

จิตระปทาฉันท์   ๑  บทมีจำนวนทั้งสิ้น  ๑๖  คำ/พยางค์

สัมผัส

พบว่า  จิตระปทาฉันท์  มีสัมผัสนอก  (ที่เป็นสัมผัสภายในบท)  จำนวน  ๒  แห่ง ได้แก่

๑.  คำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่  ๑   ส่งสัมผัสกับคำที่ ๓  ของ วรรคหลังในบาทเดียวกัน

๒.  คำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทที่  ๑  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่  ๒

          สัมผัสระหว่างบท  พบว่า  คำสุดท้ายของบท  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทที่  ๑  ของบทต่อไป

          คำครุ  ลหุ   จิตระปทาฉันท์   ๑  บท  มีคำครุทั้งหมด  ๘  คำ/พยางค์  และมีคำลหุทั้งหมด  ๘  คำ/พยางค์   ให้นักเรียนสังเกตสัมผัสบังคับ  (สัมผัสนอก)  และบังคับครุ-ลหุ  จิตระปทาฉันท์  ๘  ตามผังภาพ

คำครุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ั

       คำลหุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ุ    ให้นักเรียนดูตัวอย่างตามผังภาพ ครับ

แผนผังบังคับและตัวอย่างคำประพันธ์จิตระปทาฉันท์ 8

ตัวอย่างคำประพันธ์จิตระปทาฉันท์ ๘

สาลินีฉันท์ ๑๑

สาลินีฉันท์ ๑๑

แผนผังบังคับสาลินีฉันท์ ๑๑

สาลินีฉันท์  (อ่านว่า  สา-ลิ-นี-ฉัน)  ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  กล่าวถึง  ชื่อฉันท์อย่างหนึ่ง บาทหนึ่งมี ๑๑ คํา วรรคหน้ามี ๕ คํา เป็นครุล้วน วรรคหลังมี ๖ คํา คําที่ ๑ และคําที่ ๔ เป็นลหุ  นอกนั้นเป็นครุ
คณะและพยางค์ 

สาลินีฉันท์  ๑  บท ประกอบด้วยคณะและพยางค์  ดังนี้
มี ๒ บาท  วรรคหน้ามีจำนวน  ๕  คำ/พยางค์   และวรรคหลังมีจำนวน  ๖  คำ/พยางค์  เช่นเดียวกัน

๑  บาท  นับจำนวนคำได้  ๑๑  คำ/พยางค์   ดังนั้น  จึงเขียนเลข  ๑๑ หลังชื่อ   สาลินีฉันท์  นี่เองครับ  (แต่ต้องสังเกตที่ครุ-ลหุ  ใน  ๑  บาท  จะปรากฏคำลหุเพียง ๒ แห่ง  คือคำที่  ๑  และคำที่  ๔  ในวรรคหลัง)

ทั้งบทมีจำนวนคำทั้งสิ้น  ๒๒  คำ/พยางค์

สัมผัส

พบว่า  สาลีนีฉันท์  มีสัมผัสนอก  (ที่เป็นสัมผัสภายในบท)  จำนวน  ๒  แห่ง ได้แก่

๑.  คำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่  ๑   ส่งสัมผัสกับคำที่ ๓  ของ วรรคหลังในบาทเดียวกัน

๒.  คำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทที่  ๑  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่  ๒

          สัมผัสระหว่างบท  พบว่า  คำสุดท้ายของบท  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทที่  ๑  ของบทต่อไป

          คำครุ  ลหุ   สาลีนีฉันท์  ๑  บท  มีคำครุทั้งหมด  ๑๘  คำ/พยางค์  และมีคำลหุทั้งหมด  ๔  คำ/พยางค์   ให้นักเรียนสังเกตสัมผัสบังคับ  (สัมผัสนอก)  และบังคับครุ-ลหุ  สาลินีฉันท์  ๑๑  ตามผังภาพ

คำครุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ั

       คำลหุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ุ    ให้นักเรียนดูตัวอย่างตามผังภาพ ครับ

แผนผังบังคับและตัวอย่างคำประพันธ์สาลินีฉันท์ 11

ตัวอย่างคำประพันธ์สาลินีฉันท์ ๑๑

กมลฉันท์ ๑๒

กมลฉันท์ ๑๒

แผนผังบังคับกมลฉันท์ ๑๒

          กมลฉันท์  (อ่านว่า  กะ-มะ-ละ-ฉัน  หรือ  กะ-มน-ละ-ฉัน)  กมล ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  หมายถึง  บัว,  เหมือนอย่างบัว,  ใจ    ดังนั้น  กมลฉันท์  หากตีความตามอารมณ์หรือท่วงทำนองในการอ่าน  จึงมีความหมายว่า  “ฉันท์ที่มีท่วงทำนองลีลากล่อมใจให้เพลิดเพลิน  หรือฉันท์ที่มีลีลาดุจการแสดงอาการเหมือนดอกบัวที่กำลังคลี่ดอกให้เบ่งบานหรือหุบลง”  ก็ย่อมไม่ผิด ครับ

คณะและพยางค์ 

กมลฉันท์  ๑  บท ประกอบด้วยคณะและพยางค์  ดังนี้
มี ๒ บาท  วรรคหน้ามีจำนวน  ๖  คำ/พยางค์   และวรรคหลังมีจำนวน  ๖  คำ/พยางค์  เช่นเดียวกัน

๑  บาท  นับจำนวนคำได้  ๑๒  คำ/พยางค์   ดังนั้น  จึงเขียนเลข  ๑๒ หลังชื่อ   กมลฉันท์  นี่เองครับ  (แต่ต้องสังเกตที่ครุ-ลหุให้แน่ชัดว่าคำประพันธ์นั้นควรจะเป็นฉันท์ชนิดใด)

ทั้งบทมีจำนวนคำทั้งสิ้น  ๒๔  คำ

สัมผัส

พบว่า  กมลฉันท์  มีสัมผัสนอก  (ที่เป็นสัมผัสภายในบท)  จำนวน  ๒  แห่ง ได้แก่

๑.  คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑  (วรรคหน้า  บาทที่  ๑)  ส่งสัมผัสกับคำที่ ๓  ของวรรคที่  ๒  (วรรคหลัง  บาทที่  ๑)

๒.  คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒  (วรรคหลัง  บาทที่  ๑) ส่งสัมผัสกับคำสุดท้าย ของวรรคที่  ๓  (วรรคหน้า  บาทที่  ๒)

          สัมผัสระหว่างบท  พบว่า  คำสุดท้ายของบท  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒  (วรรคหลัง  บาทที่  ๑)  ในบทต่อไป

          คำครุ  ลหุ   กมลฉันท์  ๑  บท  มีคำครุทั้งหมด  ๑๒  และมีคำลหุทั้งหมด  ๑๒  คำ   ให้นักเรียนสังเกตสัมผัสบังคับ  (สัมผัสนอก)  และบังคับครุ-ลหุ  กมลฉันท์  ๑๒  ตามผังภาพ

คำครุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ั

       คำลหุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ุ    ให้นักเรียนดูตัวอย่างตามผังภาพ ครับ

แผนผังบังคับและตัวอย่างคำประพันธ์กมลฉันท์ 12

ตัวอย่างคำประพันธ์กมลฉันท์ ๑๒

อินทวงสฉันท์ ๑๒

อินทวงสฉันท์ ๑ 

แผนผังบังคับอินทวงสฉันท์ ๑

อินทวงสฉันท์ แปลว่า

          อินทวงส์ฉันท์  (อ่านว่า  อิน-ทะ-วง-สะ-ฉัน)  อินท์ ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  หมายถึง  ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช    อินทวงสฉันท์  จึงมีความหมายว่า  “ฉันท์ที่มีท่วงทำนองลีลาดุจอินทวงสเทวราช”

คณะและพยางค์ 

   อินทวงสฉันท์  ๑  บท ประกอบด้วยคณะและพยางค์  ดังนี้
          มี ๒ บาท  วรรคหน้ามีจำนวน  ๕  คำ/พยางค์   และวรรคหลังมีจำนวน  ๗  คำ/พยางค์ 

          ๑  บาท  นับจำนวนคำได้  ๑๒  คำ/พยางค์   ดังนั้น  จึงเขียนเลข  ๑๒ หลังชื่อ   อินทวงสฉันท์  นี่เองครับ

          ทั้งบทมีจำนวนคำทั้งสิ้น  ๒๔  คำ         

สัมผัส

      พบว่า  สัมผัสอินทวงสฉันท์  มีสัมผัสนอก  (ที่เป็นสัมผัสภายในบท)  จำนวน  ๒  แห่ง ได้แก่

                      ๑.  คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑  (วรรคหน้า  บาทที่  ๑)  ส่งสัมผัสกับคำที่ ๓  ของวรรคที่  ๒  (วรรคหลัง  บาทที่  ๑)

                      ๒.  คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒  (วรรคหลัง  บาทที่  ๑) ส่งสัมผัสกับคำสุดท้าย ของวรรคที่  ๓  (วรรคหน้า  บาทที่  ๒)

          สัมผัสระหว่างบท  พบว่า  คำสุดท้ายของบท  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒  (วรรคหลัง  บาทที่  ๑)  ในบทต่อไป

          คำครุ  ลหุ   อินทวงสฉันท์  ๑  บท  มีคำครุทั้งหมด  ๑๔  และมีคำลหุทั้งหมด  ๑๐  คำ   ให้นักเรียนสังเกตสัมผัสบังคับ  (สัมผัสนอก)  และบังคับครุ-ลหุ  อินทวงสฉันท์  ๑๒  ตามผังภาพ 

            คำครุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ั

         คำลหุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ุ    ให้นักเรียนดูตัวอย่างตามผังภาพ ครับ

แผนผังบังคับและตัวอย่างคำประพันธ์อินทวงส์ฉันท์ ๑๒


ตัวอย่างคำประพันธ์อินทวงสฉันท์ ๑๒

ฉันทลักษณ์อินทวงสฉันท์

อินทวงสฉันท์ 12

วิชชุมมาลาฉันท์ ๘

วิชชุมมาลาฉันท์ ๘ 


แผนผังบังคับวิชชุมมาลาฉันท์ ๘

 วิชชุมมาลาฉันท์ หมายถึง


          วิชชุมมาลาฉันท์  (อ่านว่า  วิด-ชุม-มา-ลา-ฉัน)  วิชชุมมาลาฉันท์  มีความหมายว่า
“ฉันท์ที่มีท่วงทำนองลีลาดุจสายฟ้าแลบ”

คณะและพยางค์ 

วิชชุมมาลาฉันท์  ๑  บท ประกอบด้วยคณะและพยางค์  ดังนี้
มี ๔ บาท  บาทละ ๒ วรรค   วรรคละ ๔ คำ

๑  บาท  นับจำนวนคำได้  ๘  คำ/พยางค์   ดังนั้น  จึงเขียนเลข  ๘ หลังชื่อ   วิชชุมมาลาฉันท์นี่เอง

ทั้งบทมีจำนวนคำทั้งสิ้น  ๓๒  คำ

สัมผัส

พบว่า  สัมผัสวิชชุมมาลาฉันท์  มีสัมผัสนอก  (ที่เป็นสัมผัสภายในบท)  บท จำนวน  ๕  แห่ง ได้แก่

๑.  คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑   ส่งสัมผัสกับคำที่ ๒  ของวรรคที่  ๒

๒.  คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒   ส่งสัมผัสกับคำสุดท้าย ของวรรคที่  ๓

๓.  คำสุดท้ายของวรรคที่ ๔   ส่งสัมผัสกับคำสุดท้าย ของวรรคที่  ๖

๔.  คำสุดท้ายของวรรคที่ ๕   ส่งสัมผัสกับคำที่ ๒  ของวรรคที่  ๖

และ               ๕.  คำสุดท้ายของวรรคที่ ๖   ส่งสัมผัสกับคำสุดท้าย ของวรรคที่  ๗

สัมผัสระหว่างบท 

พบว่า  คำสุดท้ายของบท  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรค วรรคที่ ๔  ในบทต่อไป

คำครุ  ลหุ  วิชชุมมาลาฉันท์  ๑  บท  มีคำครุทั้งหมด  ๓๒  คำ  ปราศจากการใช้คำลหุ   ให้นักเรียนสังเกตสัมผัสบังคับ  (สัมผัสนอก)  และบังคับครุ-ลหุ  (ดังที่ครูได้อธิบายความหมายไว้ก่อนหน้านี้แล้ว  ในเรื่อง  ครุ ลหุ คือ  อีกครั้ง นะครับ)  ตามผังภาพ

คำครุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ั

       คำลหุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ุ    (ซึ่งในฉันท์ประเภทนี้ไม่ใช้คำลหุ)  ให้นักเรียนดูตัวอย่างตามผังภาพ ครับ

อ่านเพิ่มเติม

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔


แผนผังบังคับวสันตดิลกฉันท์ ๑๔

 

 

วสันตดิลกฉันท์ แปลว่า

วสันตดิลกฉันท์  (อ่านว่า  วะ-สัน-ตะ-ดิ-หฺลก-ฉัน)  ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  วสันต์  แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิในคำว่า  ฤดูวสันต์  (ผลิ  แปลว่า  เริ่มงอกปริออกมา, เริ่มแตกดอกออกใบ, เช่น ดอกไม้ผลิ ใบไม้ผลิ)   ดิลก  แปลว่า  เลิศ, ยอด  รวมคำว่า  วสันตดิลกฉันท์  แล้ว  ควรจะหมายถึง  “ฉันท์ที่มีลีลาหรือท่วงทำนองที่ให้ความรู้สึกดุจยอดของใบไม้ที่กำลังคลี่บานเพื่อออกใบออกดอก”  มากกว่า

          คณะและพยางค์
          วสันตดิลกฉันท์  ๑  บท  มี  ๒  บาท  บาทละ  ๒  วรรค 

วรรคหน้า  (วรรคที่  ๑  และวรรคที่  ๓  มี  ๘  คำ/พยางค์)   ส่วนวรรคหลังที่ ๒  และวรรคที่  ๔  มี  ๖  คำ)

         รวมวสันตดิลกฉันท์  ๑  บาท  มีจำนวนคำ  ๑๔ คำ  (นี่คือที่มาของวสันตดิลกฉันท์  ๑๔  ครับ  ยึดตามจำนวนบาทนี่เอง)   รวม ๑  บท  มีจำนวน  ๒๘  คำ/พยางค์

         สัมผัส   

                      พบว่า  สัมผัสวสันตดิลกฉันท์  มีสัมผัสนอก  (ที่เป็นสัมผัสภายในบท)  บท จำนวน  ๒  แห่ง ได้แก่

                      ๑.  คำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่  ๑  (วรรคที่ ๑)   ส่งสัมผัสกับคำที่ ๓  ของวรรคหลังในบาทที่  ๑  (วรรคที่  ๒)

                      ๒.  คำสุดท้ายของวรรคหลังในบาทที่  ๑  (วรรคที่  ๒)  ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหน้าในบาทที่  ๒  (วรรคที่  ๓)

 ฉันทลักษณ์วสันตดิลกฉันท์ ๑๔

ตัวอย่างคำประพันธ์วสันตดิลกฉันท์ ๑๔

อ่านเพิ่มเติม

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

 

 

แผนผังบังคับและตัวอย่างคำประพันธ์อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

 

ฉันทลักษณ์อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

 

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

 

อินทรวิเชียร แปลว่า เพชรพระอินทร์ หรือ  สายฟ้าจากพระอินทร์  หมายถึง ฉันท์ที่มีลีลาประดุจเพชรของพระอินทร์  หรือ  สายฟ้าจากพระอินทร์

คณะและพยางค์
อินทรวิเชียรฉันท์  จำนวน  ๑  บท  มี  ๒  บาท

๑  บาท  มี  ๒ วรรค  ได้แก่

วรรคหน้าหรือวรรคต้นมี ๕ คำ (พยางค์)

ส่วนวรรคหลังหรือวรรคท้ายมี ๖ คำ (พยางค์)

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑ บาท  มีจำนวนคำ  (พยางค์)  ๑๑ คำ  (พยางค์)   ดังนั้น  จึงกำหนดเลข  ๑๑  ไว้ท้ายชื่อฉันท์  โดยยึดตามบาทของฉันท์นี่เองครับ
สัมผัส   ให้นักเรียนสังเกตสัมผัสบังคับ  (สัมผัสนอก)  และบังคับครุ-ลหุ  (ดังที่ครูได้อธิบายความหมายไว้ก่อนหน้านี้แล้ว  ในเรื่อง  ครุ ลหุ คือ)  ตามผังภาพ

       คำครุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ั

       คำลหุ   สัญลักษณ์แทนด้วย    ุ     ให้นักเรียนดูตัวอย่างตามผังภาพ ครับ

ครุ ลหุ คือ

ครุ ลหุ คือ

ครุ และ ลหุ  หมายถึงลักษณะของเสียงคำหรือพยางค์ อย่างไรละครับนักเรียน  มีประโยชน์อย่างยิ่งในการแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์  เนื่องจากคำประพันธ์ประเภทฉันท์นั้นบังคับครุ  ลหุ

สรุป ครุ ลหุ คือ

ครุ  (อ่านว่า  คะ-รุ)  หมายถึง  เสียงหนัก    หนักอย่างไร

เป็นคำหรือพยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาวไม่มีตัวสะกดก็ได้  หรือเป็นคำหรือพยางค์ที่มีเสียงตัวสะกดทุกมาตรา  (ได้แก่  แม่ กก  กด  กบ  กง  กน  กม  เกย  และเกอว)  เช่นคำว่า  ฟ้า  นั่ง  พริก  ไหม  พรม  นนท์  เชษฐ์  เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม

คำเอก คำโท คือ

คำเอก คำโท คือ

คำเอก คำโท 

คือ  พยางค์หรือคำที่ปรากฏรูปวรรณยุกต์เอก และรูปวรรณยุกต์โท ตามลำดับอย่างไรละครับ  ใช้ในคำประพันธ์ประเภทโคลง  คำประพันธ์ประเภทร่าย  (เพราะการแต่งร่ายก็ต้องจบบทด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลงสองสุภาพ)

คำเอก  คือ

พยางค์หรือคำที่ปรากฏรูปวรรณยุกต์เอก  เช่นคำว่า แต่  ข่อย  เฟื่อง  ก่อ   บ่าย   ท่าน  พี่  ช่วย  บ่  คู่  อยู่  ฯลฯ

คำเอก  รวมถึงการอนุโลมให้ใช้คำตายแทนได้  (คำตาย  คือ  คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นและไม่มีตัวสะกด หรือคำที่มีตัวสะกดในมาตราตัวสะกดแม่ กก  แม่  กด   แม่  กบ)  เช่นคำว่า พระ  ตราบ  ออก  ปะทะ  จักร   ขาด  บัด  ฯลฯ

คำโท  คือ

พยางค์หรือคำที่ปรากฏรูปวรรณยุกต์โท  เช่นคำว่า  ค้ำ  ข้อง  ไซร้  ทั้ง  รู้  ไท้  เพี้ยง  ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม

แผนผังบังคับและตัวอย่างคำประพันธ์โคลงสี่สุภาพ

แผนผังบังคับและตัวอย่างคำประพันธ์โคลงสี่สุภาพ

ฉันทลักษณ์โคลงสี่สุภาพ

คลิกที่ผังภาพเพื่อดูมุมมองใหม่แบบขยาย


 

ตัวอย่างคำประพันธ์โคลงสี่สุภาพ