บทอาขยานภาษาไทย

บทอาขยานภาษาไทย ช่วงชั้นที่ ๑ ถึง ช่วงชั้นที่ ๔  ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ  พุทธศักราช ๒๕๔๔

            วันนี้ครูปิยะฤกษ์  ขอนำรูปภาพบทอาขยานภาษาไทย  ซึ่งมาจากหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  บทอาขยานภาษาไทย  ช่วงชั้นที่ ๑ – ช่วงชั้นที่ ๔  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ มาให้ผู้ติดตามได้ดูหรือดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์  เพราะบางครั้งการที่เราจะไปค้นหนังสือเล่มนี้ก็ช่างลำบากเสียเหลือเกิน  เพราะหนังสือมีขนาดกะทัดรัดเฉพาะตัว   บทอาขยานหนังสือเล่มนี้บันทึกภาพสำเนามาใช้เพื่อประกอบการศึกษาเท่านั้น  จำนวน ๑๕๘ หน้า  ไฟล์สื่อภาพนิ่ง ๔ สี  ครับ  บทอาขยานนี้ยังนำมาใช้เป็น

บทอาขยานภาษาไทย ระดับประถมศึกษา  ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น   ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ  พุทธศักราช ๒๕๕๑

อีกด้วยครับ  เพราะยังยึดตามเล่มนี้

เอกสารบทอาขยานภาษาไทย พุทธศักราช ๒๕๕๑  ชุดที่ ๑

เอกสารบทอาขยานภาษาไทย พุทธศักราช ๒๕๕๑  ชุดที่ ๒

เอกสารบทอาขยานภาษาไทย พุทธศักราช ๒๕๔๒

อ่านเพิ่มเติม

คำสมาส : ในรูปแบบอินโฟกราฟิก (Infographic)

คำสมาส : ในรูปแบบอินโฟกราฟิก (Infographic)

วันนี้ ครูปิยะฤกษ์ขอนำความรู้เรื่อง “คำสมาสในรูปแบบอินโฟกราฟิก (Infographic)”  มาให้นักเรียนหรือผู้ที่สนใจได้ศึกษากันแบบง่าย ๆ ครับ

ที่มาขององค์ความรู้เรื่องนี้มาจาก ครั้งหนึ่งในชีวิตครูปิยะฤกษ์พยายามคิดผลิตสื่อการเรียนการสอน เมื่อประสบผลเป็นที่พอใจจึงได้ส่งเข้าประกวดจึงได้รับรางวัลเกียรติบัตรและโล่รางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ หมวดภาษาไทย ในการประกวด “ออกแบบสื่อการเรียนรู้ด้วย Infographic ประจำปี 2557” ตามโครงการยกระดับคุณภาพครูและนักเรียนด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสู่การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ประจำปีงบประมาณ 2557 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (วันที่ 9 ธันวาคม 2557 ณ กระทรวงศึกษาธิการ)

แล้ว อินโฟกราฟิก (Infographic) คืออะไรเอ่ย

อินโฟกราฟิกเป็นการแสดงผลของข้อมูลหรือความรู้โดยภาพที่อ่านและเข้าใจง่าย  จะง่ายหรือไม่ง่ายลองดูกันจากผลงานท้ายนี้นะครับ  ติชมกันได้ครับ

CF0C1FE9-5909-4F98-AA67-31A52AB7F4B7

 

องค์ประกอบของพยางค์และคำ

องค์ประกอบของพยางค์และคำ

            หลังจากที่ครูปิยะฤกษ์ได้สอนนักเรียนผ่านการบันทึกเทปในกิจกรรม DLIT Classroom ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ ไปแล้วนั้น วันนี้จึงขอนำความรู้มาเสนอต่อผู้ที่สนใจที่ผ่านมาชมหรือติดตามบล็อกการศึกษาแห่งนี้ครับ ซึ่งการสอนเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายให้เข้าใจเรื่อง “องค์ประกอบ (โครงสร้าง) ของพยางค์และคำ” ในภาษาไทยให้มากขึ้น โดยสามารถนำไปใช้ในการเรียน การเตรียมตัวสอบเก็บคะแนน และสอบเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งกล่าวถึง “องค์ประกอบ (โครงสร้าง) ของพยางค์และคำ” ในภาษาไทย ซึ่งเกี่ยวกับ พยางค์ เป็นเสียงที่เปล่งออกมาแต่ละครั้ง จะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำ ส่วน คำ เป็นหน่วยของภาษาที่ประกอบด้วยเสียงและความหมาย คำจำแนกตามพยางค์ได้เป็นคำพยางค์เดียว และ คำหลายพยางค์ การแยกองค์ประกอบของพยางค์และคำนั้นทุกพยางค์ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ๓ ส่วนเท่านั้น ได้แก่ ๑. เสียงพยัญชนะต้น ๒. เสียงสระ ๓. เสียงวรรณยุกต์ ซึ่งให้ความรู้ในการวิเคราะห์องค์ประกอบ (โครงสร้าง) ของพยางค์และคำอย่างละเอียด พร้อมแล้วไปศึกษาจากสื่อวีดีโอที่เป็นบันทึกเทปการสอน ตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒  ใบความรู้ และตัวอย่างแบบทดสอบในครั้งนี้ได้เลยครับ  หากนักเรียนหรือผู้สนใจมีความไม่เข้าใจในเรื่องนี้สามารถสอบถามมาทางโพสต์เรื่องนี้ได้เลยครับ

 

เทปการสอน ตอนที่ ๑ เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ  โดยครูปิยะฤกษ์   บุญโกศล

 

เทปการสอน ตอนที่ ๒ เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ  โดยครูปิยะฤกษ์   บุญโกศล

 

ใบความรู้/เอกสารประกอบการสอน เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ  โดยครูปิยะฤกษ์   บุญโกศล

 

แบบทดสอบ เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ  โดยครูปิยะฤกษ์   บุญโกศล

 

 

 

ภาษาไทย ม.4 เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 2 โดย ครูปิยะฤกษ์ บุญโกศล

ภาษาไทย ม.4  เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 2 โดย ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

             จากการที่ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล  ได้ร่วมบันทึกเทปรายการ DLIT  Classroom  จำนวน 5 เทป ได้แก่  ภาษาไทย  ม.4 เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 1 และตอนที่ 2,  ภาษาไทย  ม.4 เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ ตอนที่ 1 และตอนที่ 2   และภาษาไทย  ม.4 เรื่องการเขียนสะกดคำ   ตามโครงการ “การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ” หรือ “Distance Learning  Information Technology (DLIT)” เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูตรงกลุ่มสาระการเรียนรู้ในโรงเรียนขนาดกลาง และพัฒนาคุณภาพการศึกษาในด้านต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ  ก่อนหน้านี้ ๓ เดือน ผู้ที่สนใจศึกษาก็ได้สอบถามเข้ามาในสื่อสังคมออนไลน์อยู่เป็นระยะว่าเวลาใดกันหนอที่เทปการสอนตอนที่ 2 จะออกเผยแพร่   มาถึงวันนี้ เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 2 โดย ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล ก็เผยแพร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 สมกับการที่ได้ตั้งหน้าตั้งตารอคอย เนื่องจาก สพฐ.โดยคณะทีมงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตรวจสอบความสมบูรณ์ของเนื้อหาและคุณภาพของวีดีโอผลงานชิ้นนี้อยู่นะครับ  
            ในเทปที่ 2 เรื่องเสียงในภาษานี้ เน้นการสอนเกี่ยวกับเสียงพยัญชนะ เสียงวรรณยุกต์ และแนวทางในการพิชิตข้อสอบให้ได้  พร้อมแล้ว…ไปศึกษากันได้เลยครับ  
            หากวีดีโอการสอนเรื่องนี้มีข้อควรพัฒนาหรือแก้ไขปรับปรุง อาทิ ด้านเนื้อหา การใช้ภาษา ครูปิยะฤกษ์ก็ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะโดยตรงจากผู้ศึกษาทุกท่านผ่านทางบล็อกในส่วนการแสดงความเห็นท้ายเรื่องในบล็อกนี้ครับ ยังมีอะไรค้างคาใจ หรือมีความขัดแย้งกันระหว่างองค์ความรู้ที่ปรากฏอยู่ ครูปิยะฤกษ์ก็พร้อมที่จะแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และยินดีรับฟังองค์ความรู้ที่ท่านมีอยู่เพื่อนำมาพัฒนาให้เกิดสื่อที่เป็นองค์ความรู้สาระวิชาภาษาไทย เรื่อง เสียงในภาษา มีความชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไปครับ

แบบทดสอบก่อนเรียน-หลังเรียน

ภาษาไทย ม.4 เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 1 โดย ครูปิยะฤกษ์ บุญโกศล

ภาษาไทย ม.4  เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 1 โดย ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

ความเป็นมา

ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล  โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29  (อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ)  ได้รับโอกาสที่ดีในการถูกคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ  ให้เป็นฟันเฟืองซี่หนึ่งในการพัฒนาสื่อแห่งวงการศึกษาเพื่อร่วมบันทึกเทปรายการ DLIT  Classroom  จำนวน 5 เทป ได้แก่  ภาษาไทย  ม.4 เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 1 และตอนที่ 2,  ภาษาไทย  ม.4 เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ ตอนที่ 1 และตอนที่ 2   และภาษาไทย  ม.4 เรื่องการเขียนสะกดคำ   ตามโครงการ “การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ” หรือ “Distance Learning  Information Technology (DLIT)” เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูตรงกลุ่มสาระการเรียนรู้ในโรงเรียนขนาดกลาง และพัฒนาคุณภาพการศึกษาในด้านต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

จึงขอเชิญนักเรียนและผู้ที่สนใจมุ่งศึกษาจากเทปการสอนซึ่งเชื่อมต่อมาจาก YouTube และใบงานต่าง ๆ ได้ ณ โอกาสนี้ครับ  หากมีความผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย  และยินดีรับข้อเสนอแนะโดยตรงจากผู้แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ผ่านทางความเห็นผ่านบล็อกนี้ได้เลยครับ

 

 

ต่าง ๆ นานา หรือ ต่าง ๆ นา ๆ คำไหนหนาที่เขียนถูก

ต่าง ๆ นานา  หรือ  ต่าง ๆ นา ๆ  คำไหนหนาที่เขียนถูก

        หลายคนเมื่อเห็นคำว่า  “ต่าง ๆ นานา”  หรือ  “ต่าง ๆ นา ๆ” แล้ว  จะรู้สึกว่า “เอ๊ะ! คำไหนกันนะที่เขียนถูกกันแน่”

        วันนี้บล็อกการศึกษาเรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์ขอนำทุกท่านมารู้จักกับคำว่า “นานา”  ครับ   ซึ่งการนำเสนอเรื่องนี้นั้นเกิดจากการมีแรงบันดาลใจเรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้นใหม่  ด้วยมีนักเรียนคนหนึ่งไม่เข้าใจในการเรียนที่โรงเรียนจึงได้ถามเรื่อง “คำซ้ำ” และคำว่า  “นานา”  ในบล็อกแห่งนี้ครับ

          “นานา” ไม่ได้มีความหมายว่า “ทุ่งนา”  คำว่า นานา นี้จัดเป็นคำวิเศษณ์ซึ่งให้ความหมายว่า “ต่าง ๆ”   คำว่า  “ นานา”   ไทยเรารับอิทธิพลมาจากภาษาบาลี (ปาลิ : อักษรย่อของภาษานี้ ก็คือ ป. นั่นเองครับ)   ส่วนเวลานำมาใช้เรามักใช้กับคำว่า “ต่าง ๆ”  (คำซ้ำ) จึงได้คำว่า  “ต่าง ๆ นานา” (ซึ่งคำว่า ต่าง ๆ นานา นี้จัดเป็นคำซ้อนแล้วล่ะครับ)

        อย่างหนึ่งที่มักหลงลืมกันจะเขียนเป็น “ต่าง ๆ นา ๆ” ซึ่งถือว่าเขียนผิดครับ  ดังนั้น  คำว่า “นานา”  ไม่ใช่คำซ้ำครับ  แต่จัดเป็น “คำมูล” (คำมูล คือ คำที่มีความหมายในตัวเองจะแยกออกจากกันมิได้เพราะจะทำให้คำนั้น ๆ ไม่มีความหมาย   ซึ่งคำมูลนี้จะมีจำนวนพยางค์มากกว่า ๑ พยางค์ก็ได้ครับ)

        เอาเข้าแล้วล่ะสิครับ  “คำซ้ำ” คืออะไร?  เรามาเริ่มเรียนรู้ “คำซ้ำ” ให้รู้จริง รู้ลึกพร้อมกันเถอะ

 

คำซ้ำ คืออะไร?

คำซ้ำ  คือ วิธีการสร้างคำอย่างหนึ่งของไทยด้วยวิธีการซ้ำคำมูลเดิม  ทำให้ความหมายของคำซ้ำที่ได้อาจเหมือนคำมูลเดิม  หรือความหมายของคำที่ได้อาจจะมีน้ำหนักหรือความชัดเจนมากขึ้น  หรือความหมายของคำที่ได้อาจจะมีน้ำหนักเบาลง  หรือความหมายของคำที่ได้อาจจะมีน้ำหนักกว้างออกไปอีก   หรือความหมายของคำที่ได้อาจแสดงความเป็นพหูพจน์  หรือความหมายของคำที่ได้อาจมีความหมายย้ายที่/เปลี่ยนไป/ความหมายใหม่   โดยเราจะเห็นว่ารูปของคำซ้ำนี้จะมีเครื่องหมายยมก (ๆ)  เข้ามาเกี่ยวข้อง  เช่นคำว่า  เบา ๆ,  ดี ๆ,  ช้า ๆ,  ไว ๆ,  ดัง ๆ  เป็นต้น ครับ

 

ความหมายในคำซ้ำ

ความหมายเหมือนคำมูลเดิม  เช่น

– หญิงคนนั้นชอบคนรวย ๆ  (ให้ความหมายว่า ร่ำรวย)

 

ความหมายที่มีน้ำหนักหรือเพิ่มความชัดเจนมากขึ้น  เช่น

– ทำการบ้านต้องทำให้ดี ๆ  (ให้ความหมายว่า ทำให้ดีหรือดียิ่งขึ้น)

– จงร่วมใจกันร้องเพลงให้เสียงดัง ๆ  (ให้ความหมายว่า ทำให้เสียงดังยิ่งขึ้น)

– ลูกเสือรีบ ๆ เข้าแถวด่วน  (ให้ความหมายว่า ให้รีบเร่งขึ้น)

– ดึก ๆ ดื่น ๆ ตื่นขึ้นมาทำอะไร  (ให้ความหมายว่า ดึกมากแล้ว)

 

ความหมายที่มีน้ำหนักเบาลง  เช่น

– ฉันมองเห็นเขาใส่เสื้อสีดำ ๆ   (ให้ความหมายว่า ใส่เสื้อสีที่อาจเป็นสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำล้วน  หรือมีสีอื่นปนอยู่ด้วย)

 

ความหมายที่มีน้ำหนักกว้างออกไปอีก  เช่น

– พี่ชายคนนั้นนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ก็ปวดท้องขึ้นมา  (ให้ความหมายว่า อาจมีอาการทั้งนั่ง นอน เดิน ก้มหน้าก้มตาและอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย)

 

ความหมายที่แสดงความเป็นพหูพจน์   เช่น

– เด็ก ๆ วิ่งเล่นอยู่ที่สนามกีฬาของโรงเรียน  (ให้ความหมายว่า มีเด็กจำนวนมากกว่าหนึ่ง)

 

ความหมายของคำที่ได้อาจมีความหมายย้ายที่/เปลี่ยนไป/ความหมายใหม่  เช่น

–  เรื่องผี ๆ พวกนี้เอามาเล่าทำไม  (ให้ความหมายว่า  เรื่องที่ไม่ดี)

–  งานนี้เรื่องหมู ๆ แป๊บเดียวก็เสร็จ  (ให้ความหมายว่า  ง่าย, ง่ายมาก)

–  จงเห็นว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นเรื่องกล้วย ๆ  (ให้ความหมายว่า  ง่าย, ง่ายมาก)

–  อยู่ ๆ เพื่อนคนหนึ่งก็ร้องลั่นขึ้นมา  (ให้ความหมายว่า  แสดงอาการโดยไม่ทราบสาเหตุ)

–  อย่าทำงานแบบลวก ๆ ไปส่งครูนะ  (ให้ความหมายว่า  การทำงานแบบมักง่ายหรือหยาบ)

–  บ้านนอกของเราก็กินอยู่พื้น ๆ อย่างนี้ล่ะ  (ให้ความหมายว่า  ธรรมดา,  ไม่พิถีพิถัน)

–  ไป ๆ มา ๆ  ทั้งสองก็ได้แต่งงานกันทั้งที่ก่อนเคยเกลียดกันมาก  (ให้ความหมายว่า  ในที่สุด)

–  เขารู้พองู  ๆ ปลา ๆ  (ให้ความหมายว่า  ไม่กระจ่าง,  ไม่รู้เรื่องมาก)

ลักษณะของคำซ้ำ

เขียนเหมือนกัน
อ่านเหมือนกัน
ความหมายเหมือนกัน
เป็นคำชนิดเดียวกัน
ทำหน้าที่เดียวกัน
อยู่ในประโยคเดียวกัน

 

เรียนรู้คำซ้ำแล้ว  เราก็รู้พึงตระหนักว่าคำซ้ำเป็นวิธีการสร้างคำอย่างหนึ่งของไทย  เพื่อให้ได้คำที่เพียงพอตามเจตนารมณ์สำหรับใช้ในการสื่อสารภาษาไทยนั่นเอง ครับ

 

ปิยะฤกษ์  บุญโกศล

๑๐ กันยายน ๒๕๕๗

การใช้ พลาง – พราง ในข้อความเพื่อสื่อความหมาย

การใช้ พลาง – พราง ในข้อความเพื่อสื่อความหมาย

      วันนี้ขอเสนอเกร็ดความรู้ภาษาไทยที่หลายคนมองข้าม การใช้ พลาง หรือ พราง ในข้อความเพื่อสื่อความหมาย การที่ออกเสียงคำว่า พลาง หรือ พราง ก็ดี หากออกเสียงคำใดคำหนึ่งผิดก็จะทำให้ความหมายเปลี่ยนทันที ดังนั้น มาเริ่มทำความรู้จักความหมายของคำสองคำนี้กัน ครับ

      พลาง เป็นคำวิเศษณ์ พลาง หมายถึง ในระยะเวลาเดียวกัน (มักใช้กับกริยาที่ควบคู่กัน) เช่น น้องต่างพลางกินพลางเล่น หรือหมายถึง ชั่วระหว่างเวลา (ที่ยังไม่พร้อมหรือยังไม่ถึงกำหนดเป็นต้น) เช่น ให้ใช้ข้อบังคับตามกำหนดนี้ไปพลางก่อน, อบอุ่นร่างกายรอไปพลางก่อนกรรมการเรียกลงสนามแข่งขันฟุตบอล เป็นต้น ส่วน

     พราง เป็นคำกริยา พราง หมายถึง ทำให้เข้าใจเป็นอื่น, ทำให้เลือน เช่น ทหารพรางตัวด้วยการใช้ชุดลายพราง เป็นต้นครับ

     ดังนั้น ควรใช้คำสองคำนี้ให้ถูกต้องด้วยการออกเสียงและเขียนสะกดคำให้ถูกต้องตรงตามความหมายที่ต้องการสื่อสาร ปัญหาจากการสื่อสารก็จะไม่เกิดขึ้นแน่นอนครับ

โดย

ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

“ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น” สำนวนไทยนี้มีความหมายว่า?

“ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น” สำนวนไทยนี้มีความหมายว่า?

          สำนวนที่ว่า  “ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น”  จัดอยู่ในคำวิเศษณ์  เรามาพิจารณาสำนวนนี้กันครับ  “ถี่-ห่าง”  ถ้านำสองคำนี้มารวมกัน เราจะได้คำใหม่ในภาษาไทยว่า “ถี่ห่าง” ส่วนมากอยู่รวมกันกับคำว่า “ชั่วดี” จะได้ว่า “ชั่วดีถี่ห่าง”  จัดว่าเป็น “คำซ้อน”  (เพราะเป็นการนำคำที่มีความหมายตรงกันข้ามมาซ้อนกัน) 

          ช้าง  เป็นสัตว์ที่มีร่างกายขนาดใหญ่ แต่มีดวงตาที่เล็กมาก

          เล็น  หมายถึง แมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กมาก  เมื่อกัดจะทําให้เกิดความระคายเคืองต่อร่างกายซึ่งอาจหมายถึงพวกไร เหา เห็บ หมัด  หรือมด ก็ได้  แต่เมื่อเทียบกับลำตัวของมันกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ แล้ว มันก็มีดวงตาที่ใหญ่มาก 

          สำนวนนี้ เดิมใช้ว่า ถี่ลอดตัวช้าง ห่างลอดตัวเล็น   ต่อมาได้กลายเสียงเป็น ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น และก็มีการใช้สำนวนนี้กันมาถึงปัจจุบัน  

          ข้อความในสำนวนนี้พบว่า มีคำคู่ขัดแย้งกันและไม่เป็นไปตามเหตุผล ครับ  นี่แหละจึงเป็นเหตุผลของสำนวน   ที่ว่า ถี่  แต่ช้างกลับลอดได้ทั้งตัว  นั้นหมายถึง ไม่ถี่ถ้วนจริง  คำว่า  “ถี่ลอดตัวช้าง” กับ “ห่างลอดตัวเล็น”   ถ้าพิจารณาตามเหตุตามผลต้องกล่าวว่า  “ห่างลอดตัวช้าง  ถี่ลอดตัวเล็น” จึงจะถูกต้อง 

          ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น  หมายถึง  “ดูเหมือนรอบคอบถี่ถ้วนแต่ไม่รอบคอบถี่ถ้วนจริง, ประหยัดในสิ่งที่ไม่ควรประหยัด ไม่ประหยัดในสิ่งที่ควรประหยัด ครับ

          มีสำนวนไทยอีกจำนวนมากที่เราคนไทยต้องรู้ในรูปของสำนวนและความหมายของสำนวนเพื่อจะได้นำไปใช้ให้ถูกต้องตรงตามความหมายสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน นะครับ

สำนวนไทยพร้อมความหมายที่ควรรู้

               วันนี้  จึงขอเสนอสำนวนไทยบางสำนวน  เพื่อให้นักเรียนรวมถึงนักอ่านผู้ท่องเว็บเก็บความรู้จากบล็อกการศึกษาออนไลน์เรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์ได้รู้จักสำนวนไทยและความหมายพอหอมปากหอมคอ ดังนี้ ครับ

สำนวน

ความหมาย

กินน้ำใต้ศอก

จําต้องยอมเป็นรองเขา, ไม่เทียมหน้าเทียมตาเท่า (มักหมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมลงให้แก่เมียหลวง)

กินน้ำเห็นปลิง

รู้สึกตะขิดตะขวงใจ (เหมือนจะกินน้ำเห็นปลิงอยู่ในน้ำก็กินไม่ลง)

กลิ้งครกขึ้นภูเขา

เรื่องที่ตนกำลังจะทำนั้นถ้าจะทำให้สำเร็จนั้นทำได้ยากลำบาก จึงต้องใช้ความพยายามและความสามารถอย่างมาก

กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้

ลักษณะของการทำงานที่มีความลังเลใจ ทำให้แก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงทีเมื่อได้อย่างหนึ่ง แต่ต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป ดุจเอาถั่วกับงามาคั่วพร้อมกัน กว่าจะคั่วจนถั่วสุก งาก็จะไหม้หมดไปก่อน

กำขี้ดีกว่ากำตด

ได้บ้างดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน

เก็บเล็กผสมน้อย, ทําอะไรที่ประกอบด้วยส่วนเล็กส่วนน้อย โน่นบ้างนี่บ้าง จนสําเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

แกว่งเท้าหาเสี้ยน

หมายถึงคนที่เข้าไปยุ่งเรื่องของคนอื่นทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็น จนทำให้ตัวเองได้รับความเดือนร้อน

ใกล้เกลือกินด่าง

สิ่งที่หาได้ง่ายหรืออยู่ใกล้ตัวที่มีคุณค่ากว่า กลับไม่เอา  แต่กลับไปเอาสิ่งที่อยู่ไกลหรือหายาก แต่มีคุณค่าด้อยกว่ามาใช้

ขี่ช้างจับตั๊กแตน

ลงทุนมากแต่ได้ผลเพียงเล็กน้อย

ขว้างงูไม่พ้นคอ

ทําอะไรแล้วผลร้ายกลับมาสู่ตัวเอง

ข้าวใหม่ปลามัน

อะไรที่เป็นของใหม่ก็ถือว่าดี, นิยมเรียกช่วงเวลาที่สามีภรรยาเพิ่งแต่งงานกันใหม่ ๆ ว่า ระยะข้าวใหม่ปลามัน

เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม

ประพฤติตนตามที่คนส่วนใหญ่ประพฤติกัน

แขกไม่ได้รับเชิญ

คนหรือสัตว์ที่ไม่พึงปรารถนาซึ่งเข้ามาทำให้เกิดความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญ

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก

เรื่องราวที่เกิดเดือนร้อนขึ้นมา กำลังมีปัญหาและแก้ไขอยู่ ก็เกิดมีปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามา

ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

มีความรู้มากแต่ไม่รู้จักใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์

คอหอยกับลูกกระเดือก

เข้ากันได้ดี แยกกันไม่ออก

ฆ้องปากแตก

ปากโป้ง, เก็บความลับไม่อยู่,  ชอบนำความลับของผู้อื่นไปเปิดเผย

ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก

ทำการใหญ่ไม่ควรตระหนี่

จับตัววางตาย

กำหนดลงไปแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง

เจ้าไม่มีศาล สมภารไม่มีวัด

ผู้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์

ปล่อยไปตามเรื่องราว ไม่เอาเป็นธุระ

เชื้อไม่ทิ้งแถว

เป็นไปตามเผ่าพันธุ์

ซื่อเหมือนแมวนอนหวด

ทำเป็นซื่อ

ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าตรุษ

ซื้อของไม่คำนึงถึงเวลาหรือฤดูกาลย่อมได้ของที่มีราคาแพง

ดินพอกหางหมู

คั่งค้างพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ

เด็ดบัวไม่ไว้ใย

ตัดขาดกัน, ตัดญาติขาดมิตรกันเด็ดขาด

ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้

ตกอยู่ในที่คับขันอย่างไรก็ไม่เป็นอันตราย, ตกอยู่ที่ใดก็ไม่สูญหาย

ตบมือข้างเดียวไม่ดัง

ทำอะไรฝ่ายเดียวย่อมไม่เกิดผล

ถอนต้นก่นราก

ทำลายให้ถึงต้นตอ

ถอนหงอก

ไม่นับถือความเป็นผู้ใหญ่

ที่เท่าแมวดิ้นตาย

ที่ดินหรือเนื้อที่เล็กน้อย

นกรู้

ผู้ที่มีไหวพริบรู้เท่าทันเหตุการณ์หรือภัยที่จะมาถึงตน

นั่งในหัวใจ

รู้ใจ, ทำถูกต้องตรงตามที่ผู้อื่นคิดไว้

น้ำตาตกใน

เศร้าโศกเสียใจอย่างมาก แต่ไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

บอกเล่าเก้าสิบ

บอกกล่าวให้รู้

บ้าหอบฟาง

บ้าสมบัติ เห็นอะไร ๆ เป็นของมีค่าก็จะเอาทั้งนั้น  หรือ อาการถือเอาสิ่งของ หอบหิ้วสิ่งของพะรุงพะรัง

เบี้ยบ้ายรายทาง

เงินที่จะต้องใช้จ่ายหรือเสียไปเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ในขณะทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ

ปรานีตีเอาเรือ

เอ็นดูหรือเผื่อแผ่เขาแต่กลับถูกประทุษร้ายตอบ

ปลาติดหลังแห

คนที่พลอยได้รับเคราะห์กรรมร่วมกับผู้อื่นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนพัวพันด้วย

ปากหวานก้นเปรี้ยว

พูดจาอ่อนหวานแต่ไม่จริงใจ

ผ้าขี้ริ้วห่อทอง

คนมั่งมีแต่แต่งตัวซอมซ่อ

ผีซ้ำด้ำพลอย

ถูกซ้ำเติมเมื่อพลาดพลั้งลงหรือเมื่อคราวเคราะห์ร้าย

พอก้าวขาก็ลาโรง

ชักช้าทำให้เสียการ

พูดอย่างมะนาวไม่มีน้ำ

พูดห้วน ๆ

ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด

ฟังไม่ได้ความแน่ชัดแล้วเอาไปพูดต่อหรือทำผิด ๆ พลาด ๆ

ฟ้าไม่กระเทือนสันหลัง

อำนาจเบื้องบนหรือผู้ปกครองยังไม่ลงโทษทัณฑ์,  ถ้าฟ้าไม่กระเทือนสันหลังก็ยังไม่รู้สึก

มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก

พูดจาตลบตะแลงพลิกแพลงไปมาจนจับคำพูดไม่ทัน

มะพร้าวตื่นดก

เห่อหรือตื่นเต้นในสิ่งที่ตนไม่เคยมีไม่เคยได้จนเกินพอดี

มัดมือชก

บังคับหรือใช้วิธีการใด ๆ ให้อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในภาวะจำยอมโดยไม่มีทางต่อสู้

แม่สายบัวแต่งตัวค้าง

ผู้หญิงที่นัดกับคนอื่นแล้วแต่งตัวคอยผู้มารับเพื่อออกนอกบ้าน แต่เขาไม่มาตามนัด

ยาวบั่นสั้นต่อ

รักจะอยู่ด้วยกันนาน ๆ ให้ตัดความคิดอาฆาตพยาบาทออกไป  รักจะอยู่ด้วยกันสั้น ๆ ให้คิดอาฆาตพยาบาทเข้าไว้

ยุให้รำตำให้รั่ว

ยุให้แตกกันหรือยุให้ผิดใจกัน

รวบหัวรวบหาง

ทำให้เสร็จโดยเร็ว

ร้อนวิชา

เร่าร้อนอยากจะแสดงวิชาความรู้พิเศษจนอยู่ไม่เป็นปกติ

ล้มมวย

สมยอมหรือทำให้สมยอมกันในทางไม่สุจริต

ลากหนามจุกช่อง

ยกเรื่องต่าง ๆ มาอ้างป้องกันตัว หรือ ขัดขวางไม่ให้คนอื่นได้รับประโยชน์ในเมื่อตนเองไม่ได้รับประโยชน์ด้วย

เลือดข้นกว่าน้ำ

ญาติพี่น้องย่อมดีกว่าคนอื่น

วันพระไม่มีหนเดียว

วันหน้ายังมีโอกาสอีก ใช้ในการแก้แค้นหรือเอาคืน

วัวสันหลังหวะ

คนที่มีความผิดติดตัวทำให้คอยหวาดระแวง

ศรศิลป์ไม่กินกัน

ไม่ถูกกัน หรือ ไม่ลงรอยกัน หรือ ไม่ชอบหน้ากัน

ศิษย์มีครู

คนเก่งที่มีครูเก่ง

สวมหมวกหลายใบ

ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน

สะดุดขาตัวเอง

ทำผิดหลักเกณฑ์ที่ตนกำหนดไว้เอง

เส้นผมบังภูเขา

เรื่องง่าย ๆ แต่คิดไม่ออก เหมือนมีอะไรมาบังอยู่

หนังหน้าไฟ

ผู้ได้รับความเดือดร้อนก่อนผู้อื่น

หนีเสือปะจระเข้

หนีภัยอันตรายอย่างหนึ่งแล้วต้องพบภัยอันตรายอีกอย่างหนึ่ง

หนูตกถังข้าวสาร

ผู้ชายที่มีฐานะไม่ค่อยดีได้แต่งงานกับผู้หญิงที่ร่ำรวย

เอากุ้งฝอยไปตกปลากะพง

ลงทุนน้อยหวังผลกำไรมาก

เอาปูนหมายหัว

ผูกอาฆาตไว้, ประมาทหน้าว่าไม่มีทางจะเอาดีได้

เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ

โต้ตอบหรือทะเลาะกับคนพาลหรือคนที่มีฐานะต่ำกว่าเป็นการไม่สมควรทำ

         ขอปิดท้ายนำเสนอสำนวนไทยที่เป็นสื่อวีดีโอให้ผู้สนใจได้ศึกษาด้วยครับ

ที่มาของลิงก์วีดีโอ/ขอขอบคุณ  :  http://www.youtube.com/watch?v=dv0UO03NAOk  จากคุณ Saharat Taengwichien ครับ

         เป็นอย่างไรบ้างครับ กับสำนวนไทยที่นำเสนอไปนั้น คงไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปนะครับ   จำได้ทั้งรูปสำนวนและความหมายของสำนวน (แบบยากที่จะลืมกัน) กี่สำนวนเอ่ย  บล็อกการศึกษาออนไลน์เรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า  “สำนวนไทยพร้อมความหมายที่ควรรู้” ที่ได้นำเสนอนี้  คงเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษานะครับ

เขียนโดย  ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

  ๑๐  มีนาคม  ๒๕๕๗

มารู้จักพินทุ์อิ (−) ให้ดียิ่งขึ้นเถอะ

มารู้จักพินทุ์อิ  (−)  ให้ดียิ่งขึ้นเถอะ

พินทุ์อิ  (−) 

      −  รูปสระที่นักเรียนเห็นนี้เรียกว่า พินทุ์อิ  (อ่านว่า  พินอิ)  บางคนชอบเรียกว่า  “สระอิ”  แต่ สระอิ คือเสียงสระครับ  แต่นี่คือรูปสระ  รูปและเสียงสระในภาษาไทยนั้นต่างกันนะครับ   รูปสระ  พินทุ์อิ  (−)  นี้ในวิชาภาษาไทยนำมาใช้ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้ ครับ

       ๑)   ใช้เป็นสระ อิ  เมื่ออยู่เหนือพยัญชนะต้น  เช่นคำว่า  มิ  ปริ  ซิ  เป็นต้น นี่จึงเรียกว่าเป็นคำที่มีเสียง “สระ อิ” ครับ 

       ๒)   ใช้ประสมกับรูปสระอื่น เช่น  ไม้หน้า ( เ ) +  ตัวออ  ( อ ) จะได้เป็นสระ  เออ  ลดรูปกึ่งหนึ่งเมื่อมีพยัญชนะมาทำหน้าที่เป็นตัวสะกด เช่นคำว่า  เชิด  เทิด  เป็นต้น  นักเรียนจะพบว่า  ตัว  อ  หายไปใช่ไหมครับ   ตัว  อ  ไม่ใช่  อ อ่าง (พยัญชนะไทย)  แต่  อ  (คือ ตัว อ  เป็นรูปสระหนึ่งของไทย)   จำง่าย ๆ  เลยว่า  “ตัว อ  มีแรงกระโดดขึ้นเป็น − 

       ๓)   ใช้ประสมสระให้เป็นสระเสียง อี  อึ  อื  เอียะ  เอีย  เอือะ เอือ  ครับ   ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

          เช่นคำว่า   มีด    มีรูปสระอยู่  ๒  ตัว   ได้แก่  พินทุ์อิ  (−)  +  ฝนทอง  (   ) 

               คำว่า  มื้อ    มีรูปสระอยู่  ๓  ตัว   ได้แก่  พินทุ์อิ  (−)  +  ฟันหนู  (    )  +  ตัวออ  ( อ ) 

 

          เกี่ยวกับเรื่องรูปสระในภาษาไทย  นักเรียนคงพอเข้าใจบ้างนะครับ  สงสัยตรงไหนส่งกระทู้ความคิดเห็นมาถามได้นะครับ

  โดย  ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล   โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร

วันที่เผยแพร่  ๒๙  กันยายน  ๒๕๕๖

ส่วนเอกสารที่เสนอเป็น Slide ด้านล่างนี้สำหรับรองรับสมรรถภาพของโปรแกรมอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานอีกทางหนึ่งครับ เพื่อให้เกิดความสบายดวงตา หรือ กรณีที่ไม่สามารถอ่านข้อความด้านบนได้ หรือ กรณีข้อความไม่สมบูรณ์และไม่มีความคมชัดครับ

แพทยศาสตร์ อ่านอย่างไรจึงจะถูกต้อง

แพทยศาสตร์ อ่านอย่างไรจึงจะถูกต้อง

         คำว่า  แพทยศาสตร์  นี้นับว่าเป็นปัญหาในการใช้ภาษาไทยเป็นอย่างมากในวิถีการนำไปใช้ด้านการพูด (การออกเสียง)  ซึ่งนักเรียนในโรงเรียนหรือแม้กระทั่งนักข่าวในสถานีวิทยุโทรทัศน์นั้นมักจะอ่านว่า  แพด-สาด  ซึ่งถือว่าผิด หากอ่านให้ถูกต้องเราต้องอ่านออกเสียงว่า  แพด-ทะ-ยะ-สาด  แพทยศาสตร์คำนี้ถือว่าเป็นคำสมาสโดยต้องออกเสียง “อะ” ครึ่งเสียงระหว่างคำทั้งสอง

         คำว่า  “คำสมาส”  หลายคนคงเข้าใจกันมาบ้างแล้วใช่ไหมครับ  หลายคนอาจจะยังงง ๆ  วันนี้จึงขอนำความรู้เรื่อง  “คำสมาส”  มาฝากกันด้วย ครับ

คำสมาสคืออะไร   

         คำสมาส คือ คำที่มาจากภาษาบาลีหรือสันสกฤตเท่านั้น จำนวนคำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปนำมาสร้างให้ต่อกันซึ่งทำให้เกิดเป็นคำใหม่  (หลักการจำ  สมาส —> ชน,  สนธิ—>เชื่อม)  โดยที่เราแปลความหมายจากข้างหลังไปข้างหน้าหรือแปลความหมายจากข้างหน้าไปข้างหลัง (เป็นบางคำ) 

         เวลาเราอ่านออกเสียงคำสมาส  เราจะต้องอ่านออกเสียง “อะ”  หรือ อ่านแบบเรียงพยางค์ระหว่างคำทั้งสองนั้น

ตัวอย่างคำสมาส

กรรมการ              อ่านว่า      กำ-มะ-กาน  (มาจากคำว่า กรฺม + การ)

คณบดี                 อ่านว่า      คะ-นะ-บอ-ดี  (มาจากคำว่า คณ + ปติ)

จิตรกร                 อ่านว่า      จิต-ตฺระ-กอน  (มาจากคำว่า จิตร + กร)

เจตคติ                 อ่านว่า      เจ-ตะ-คะ-ติ 

ชนบท                  อ่านว่า      ชน-นะ-บด  (มาจากคำว่า ชน + ปท)

ประถมศึกษา          อ่านว่า         ประ-ถม-มะ-สึก-สา 

ประวัติศาสตร์        อ่านว่า         ประ-หวัด-ติ-สาด

มนุษยชน              อ่านว่า         มะ-นุด-สะ-ยะ-ชน

มัธยมศึกษา            อ่านว่า         มัด-ทะ-ยม-มะ-สึก-สา

มาตรฐาน              อ่านว่า         มาด-ตฺระ-ถาน

รัฐมนตรี               อ่านว่า         รัด-ถะ-มน-ตฺรี

วิทยบริการ            อ่านว่า         วิด-ทะ-ยะ-บอ-ริ-กาน 

วิกฤตการณ์           อ่านว่า         วิ-กฺริด-ตะ-กาน

สัตวแพทย์             อ่านว่า         สัด-ตะ-วะ-แพด 

สาธารณภัย            อ่านว่า         สา-ทา-ระ-นะ-ไพ

อุทกภัย                อ่านว่า         อุ-ทก-กะ-ไพ

คำสมาสบางคำไม่อ่านออกเสียงสระท้ายพยางค์ของคำหน้า  (ไม่อ่านออกเสียงอย่างสมาส)

         คำที่เป็นชื่อจังหวัด  ไม่อ่านออกเสียง  “อะ”  ท้ายพยางค์ของคำหน้า  ตัวอย่างเช่น  ชลบุรี  ชัยนาท  นครพนม  นครสวรรค์ปทุมธานี  ปราจีนบุรี  ลพบุรี  สกลนคร  สมุทรปราการ    สมุทรสงคราม  สมุทรสาคร  สุพรรณบุรี   อุดรธานี   อุทัยธานี 

         ชื่อจังหวัดที่ต้องออกเสียงอย่างสมาส  อ่านออกเสียง  “อะ”  ท้ายพยางค์ของคำหน้า  ตัวอย่างเช่น  

         เพชรบุรี    อ่านว่า  เพ็ด-ชะ-บุ-รี    

         เพชรบูรณ์  อ่านว่า  เพ็ด-ชะ-บูน  

         ราชบุรี      อ่านว่า   ราด-ชะ-บุ-รี

 

คำที่อ่านอย่างสมาสแต่ไม่ใช่คำสมาส  

         นอกจากนี้ยังมีคำที่ไม่ใช่คำสมาสแต่อ่านอย่างสมาส  (เป็นเพราะว่ามีคำหนึ่งมาจากภาษาบาลีหรือสันสกฤต และมีอีกคำหนึ่งที่มาจากภาษาไทยแท้หรือภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาดังกล่าว)  ทั้งหมดนี้จัดว่าเป็นเป็นคำประสมซึ่งเป็นวิธีสร้างคำของไทย  ตัวอย่างคำ

กรมขุน        อ่านว่า  กฺรม-มะ-ขุน 

กรมท่า        อ่านว่า  กฺรม-มะ-ท่า 

กรมพระ      อ่านว่า  กฺรม-มะ-พฺระ

กรมวัง         อ่านว่า  กฺรม-มะ-วัง

กลเม็ด        อ่านว่า   กน-ละ-เม็ด 

คุณค่า          อ่านว่า  คุน-นะ-ค่า

พระพุทธเจ้า   อ่านว่า  พฺระ-พุด-ทะ-เจ้า 

ทุนทรัพย์       อ่านว่า   ทุน-นะ-ซับ  (ทุน เป็นคำไทยแท้)

ผลไม้           อ่านว่า   ผน-ละ-ไม้   

พลขับ          อ่านว่า   พน-ละ-ขับ 

พลความ       อ่านว่า   พน-ละ-ความ 

พลร่ม           อ่านว่า   พน-ละ-ร่ม

พลเมือง        อ่านว่า   พน-ละ-เมือง 

พลเรือน        อ่านว่า   พน-ละ-เรือน   

สรรพสินค้า    อ่านว่า   สับ-พะ-สิน-ค้า

สรรพสิ่ง        อ่านว่า   สับ-พะ-สิ่ง

         ดังนั้น  จึงควรหันมาใส่ใจหลักการอ่านคำไทย  เพื่อเราจะอ่านคำไทยได้อย่างถูกต้องไม่อายใครอันเป็นการรักษ์ภาษาไทยให้เป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่สำคัญตราตรึงไว้ในใจคนไทยทุกนะครับ  

โดย  ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร

เผยแพร่วันที่  ๒๐  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๖

พยางค์ปิด พยางค์เปิด คืออะไร

พยางค์ปิด พยางค์เปิด คืออะไร

             พยางค์ ปิด คือ พยางค์ที่ประกอบด้วยเสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ เสียงวรรณยุกต์ และ เสียงพยัญชนะท้าย (ที่มีเสียงตัวสะกด) เช่น ถาม ดึก สงสัย ภาคภูมิ  ไม่  เข้า  ทำ  เป็นต้น

            ส่วน  พยางค์เปิด คือ พยางค์ที่ประกอบด้วยเสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ เสียงวรรณยุกต์ (ต่างกับพยางค์ปิดคือ ไม่มีเสียงพยัญชนะท้าย) เช่น ขา โอ ชู คี่ เซ เป็นต้น

ใช้คำว่า หยากไย่ หรือ หยักไย่ คำไหนถูกต้อง

ใช้คำว่า  หยากไย่  หรือ  หยักไย่  คำไหนถูกต้อง

              วันนี้มีสมาชิกแฟนเพจเฟสบุ๊กตั้งกระทู้ถามใน  “เรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์”  ว่า  “หยักไย่ หรือ หยากไย่
ที่เป็นใยแมงมุม อันไหนถูกต้อง”   เรื่องนี้  ขอตอบว่า  คำไทยที่เราใช้ไทยเรามีนั้นและยึดตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ 

                คำว่า  หยากไย่  มีใช้  หยากไย่  เป็นคำนาม หมายถึง ใยแมงมุมที่ติดค้างอยู่ในที่ต่าง ๆ  ส่วนคำว่า หยักไย่ ก็ใช้ครับจัดเป็นเป็นคำชนิดเดียวกันและมีความหมายเหมือนกัน

                อย่าลืมนะครับว่า  ใยแมงมุม  เขียนเช่นนี้    หยากไย่ หรือ หยักไย่  ใช้รูปสระ  ไ  ไม้มลาย  ไม่ใช่ ใ ไม้ม้วน นะครับ

ภาพพจน์ คืออะไร ภาพลักษณ์ คืออะไร ภาพพจน์และภาพลักษณ์ใช้ต่างกันอย่างไร

ภาพพจน์ คืออะไร  ภาพลักษณ์ คืออะไร

ภาพพจน์และภาพลักษณ์ใช้ต่างกันอย่างไร

 ภาพพจน์ คืออะไร 

        ภาพพจน์  เป็นคำไทยที่เกิดจากการบัญญัติศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษ คือ คำว่า figure of speech (ทำให้ได้ศัพท์บัญญัติ) หน่วยงานที่ทำหน้าที่บัญญัติศัพท์ คือ ราชบัณฑิตยสถาน 

        ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พุทธศักราช  ๒๕๔๒   คำว่า  ภาพพจน์  (อ่านว่า  พาบ-พด)  หมายถึง  ถ้อยคำที่เป็นสํานวนโวหารทําให้นึกเห็นเป็นภาพ, ถ้อยคำที่เรียบเรียงอย่างมีชั้นเชิงเป็นโวหาร มีเจตนาให้มีประสิทธิผล ต่อความคิด ความเข้าใจ ให้จินตนาการและถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่าง กว้างขวางลึกซึ้งกว่าการบอกเล่าที่ตรงไปตรงมา

        ภาพพจน์ เป็นคำที่เราได้ยินกันคุ้นหูกันมากครับ  ส่วนมากเรามักใช้ผิด  ผิดในการใช้คำนี้ในชีวิตประจำวัน  ตัวอย่างเช่น 

        “ดูสิ  คนอื่นเขาใส่รองเท้าหุ้มส้นมาร่วมงานสำคัญกันหมด  มีเธอคนเดียวนี่แหละที่ใส่รองเท้าแตะมา  ทำให้เสียภาพพจน์หมด”

               จากข้อความตัวอย่างถือว่าใช้แทนคำสื่อความหมายผิด    ดังนั้น  คำว่า  “ภาพพจน์” ควรเปลี่ยนเป็นคำว่า  “ภาพลักษณ์”

 ภาพลักษณ์  คืออะไร

        ภาพลักษณ์ ก็เป็นคำไทยที่เกิดจากการบัญญัติศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน  มาจากคำว่า   image

        ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พุทธศักราช  ๒๕๔๒   คำว่า  ภาพลักษณ์  (อ่านว่า  พาบ-ลัก)   หมายถึง  ภาพที่เกิดจากความนึกคิดหรือที่คิดว่าควรจะเป็นเช่นนั้น  หรือ จินตภาพ ก็ว่า

        ส่วนความหมายตาม พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม : ภาพพจน์ โวหาร และกลการประพันธ์ อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑  พ.ศ.  ๒๕๓๙   มีการระบุความหมายของคำ ๒ คำ  ดังนี้

        figure of speech  ซึ่งตรงกับคำว่า  ภาพพจน์  คือ  สำนวน ภาษารูปแบบหนึ่ง เกิดจากการเรียบเรียงถ้อยคำด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้ผิดแผกไปจากการเรียงลำดับคำหรือความหมายของคำตามปกติ เพื่อให้เกิดภาพหรือให้มีความหมายพิเศษ

        image   ซึ่งมีความหมายตรงกันกับคำว่า 

        ๑.    ภาพลักษณ์ ในความหมายทั่วไป หมายถึง  ลักษณะหรือท่าทีของบุคคล หรือขององค์กรที่ปรากฏแก่ตาหรือความรู้สึกนึกคิดของสาธารณชน

        ๒.    จินตภาพ ในทางวรรณกรรม จินตภาพมีความหมายหลายอย่างและใช้ได้หลายวิธี   โดยอาจจะเป็นภาพที่เกิดในจิตที่เกิดจากการอ่านงานเขียน  

 ภาพพจน์และภาพลักษณ์ใช้ต่างกันอย่างไร

        สรุปกันอย่างง่าย ๆ นะครับ หากภาพที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ทำให้ประจักษ์  เช่น  การกระทำ  การแต่งกาย  ความประพฤติที่สะท้อนออกมา  เราจะใช้คำว่า  “ภาพลักษณ์”  

        ส่วนคำพูด  คำกล่าว  วรรณกรรมหรืองานเขียนต่าง  ๆ   ที่ใช้โวหารในการเรียบเรียงถ้อยคำแล้วสามารถทำให้เรานึกคิดเกิดเห็นภาพ  เราจะใช้คำว่า  “จินตภาพ”

        ส่วน  “ภาพพจน์” นั้นเราจะพิจารณาที่ถ้อยคำหรือวรรณกรรมต่าง ๆ  ว่ามีศิลปะชั้นเชิงในการประพันธ์   การใช้สำนวนโวหาร  มีจินตนาการ  มีเจตนาไปในทิศทางใด  หรือไม่อย่างไร  เป็นต้น 

 

เขียนโดย  ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

เผยแพร่เมื่อวันที่  ๑๐  มิถุนายน  ๒๕๕๕ 

ใน  https://krupiyarerk.wordpress.com/

 

        อ่านเพิ่มเติม

การใช้คำว่า ภัย : ตัวอย่างการใช้

การใช้คำว่า ภัย :  ตัวอย่างการใช้

ภัย

          ภัย มาจากคำภาษาบาลีสันสกฤตว่า ภย (อ่านว่า พะ -ยะ) แปลว่า ความกลัว, สิ่งที่น่ากลัว, สิ่งที่ทำให้กลัว. ในภาษาไทยใช้หมายถึง สิ่งที่ทำให้คนได้รับความเดือดร้อน อันตราย หรือบาดเจ็บล้มตาย เช่น โรคภัย คือภัยที่เกิดจากโรคร้าย. อัคคีภัย คือภัยที่เกิดจากไฟไหม้. อุทกภัย คือภัยที่เกิดจากน้ำท่วม. ภัยทำให้ผู้คนประสบความทุกข์ยาก ลำบาก หรือสิ้นชีวิต. มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดมาก่อน. ในประเทศไทย เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม จนถึงมกราคม อากาศจะหนาวเย็นมาก โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน อากาศหนาวเช่นนี้เกิดขึ้นทุกปีเป็นสภาวะของอากาศประจำท้องถิ่นในฤดูหนาว ไม่ใช่ภัยอันตราย เพราะเป็นสภาพอากาศปรกติที่เกิดอยู่ประจำ อากาศหนาวในประเทศไทยเป็นสิ่งปรกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นประจำทุกปี จึงไม่ควรเรียกว่า ภัยหนาว

ที่มา/อ้างอิง  : 

ราชบัณฑิตยสถาน.  (๒๔  มกราคม  ๒๕๕๕). 

          ภัย.   เข้าถึงได้จาก  :  

          http://www.royin.go.th/th/

          knowledge/detail.php?ID=4677

          อ้างถึงใน : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”

          ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่ง

          ประเทศไทย เมื่อวันที่  ๒๔  มกราคม  ๒๕๕๕

          เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ๕ ข้อ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ที่นักเรียนควรทราบ ควรระลึก และหมั่นปฏิบัติอยู่เสมอ

สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ๕ ข้อ  ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  ๒๕๕๑  ที่นักเรียนควรทราบ ควรระลึก และหมั่นปฏิบัติอยู่เสมอ

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ ๕ ประการ ดังนี้

๑.  ความสามารถในการสื่อสาร

เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร  มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็น ประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม รวมทั้งการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสารด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม

.  ความสามารถในการคิด

เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์  การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตน เองและสังคมได้อย่างเหมาะสม

๓.  ความสามารถในการแก้ปัญหา

เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ  ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรมและข้อมูลสารสนเทศ เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม  แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม

๔.  ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต

เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น

๕.  ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี

เป็นความสามารถในการเลือก และใช้ เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร การทำงาน  การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม

ที่มา/อ้างอิง  :  กระทรวงศึกษาธิการ.  (๒๕๕๒).  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

พุทธศักราช  ๒๕๕๑.    กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์

การเกษตรแห่งประเทศไทย.