ต่าง ๆ นานา หรือ ต่าง ๆ นา ๆ คำไหนหนาที่เขียนถูก

ต่าง ๆ นานา  หรือ  ต่าง ๆ นา ๆ  คำไหนหนาที่เขียนถูก

        หลายคนเมื่อเห็นคำว่า  “ต่าง ๆ นานา”  หรือ  “ต่าง ๆ นา ๆ” แล้ว  จะรู้สึกว่า “เอ๊ะ! คำไหนกันนะที่เขียนถูกกันแน่”

        วันนี้บล็อกการศึกษาเรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์ขอนำทุกท่านมารู้จักกับคำว่า “นานา”  ครับ   ซึ่งการนำเสนอเรื่องนี้นั้นเกิดจากการมีแรงบันดาลใจเรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้นใหม่  ด้วยมีนักเรียนคนหนึ่งไม่เข้าใจในการเรียนที่โรงเรียนจึงได้ถามเรื่อง “คำซ้ำ” และคำว่า  “นานา”  ในบล็อกแห่งนี้ครับ

          “นานา” ไม่ได้มีความหมายว่า “ทุ่งนา”  คำว่า นานา นี้จัดเป็นคำวิเศษณ์ซึ่งให้ความหมายว่า “ต่าง ๆ”   คำว่า  “ นานา”   ไทยเรารับอิทธิพลมาจากภาษาบาลี (ปาลิ : อักษรย่อของภาษานี้ ก็คือ ป. นั่นเองครับ)   ส่วนเวลานำมาใช้เรามักใช้กับคำว่า “ต่าง ๆ”  (คำซ้ำ) จึงได้คำว่า  “ต่าง ๆ นานา” (ซึ่งคำว่า ต่าง ๆ นานา นี้จัดเป็นคำซ้อนแล้วล่ะครับ)

        อย่างหนึ่งที่มักหลงลืมกันจะเขียนเป็น “ต่าง ๆ นา ๆ” ซึ่งถือว่าเขียนผิดครับ  ดังนั้น  คำว่า “นานา”  ไม่ใช่คำซ้ำครับ  แต่จัดเป็น “คำมูล” (คำมูล คือ คำที่มีความหมายในตัวเองจะแยกออกจากกันมิได้เพราะจะทำให้คำนั้น ๆ ไม่มีความหมาย   ซึ่งคำมูลนี้จะมีจำนวนพยางค์มากกว่า ๑ พยางค์ก็ได้ครับ)

        เอาเข้าแล้วล่ะสิครับ  “คำซ้ำ” คืออะไร?  เรามาเริ่มเรียนรู้ “คำซ้ำ” ให้รู้จริง รู้ลึกพร้อมกันเถอะ

 

คำซ้ำ คืออะไร?

คำซ้ำ  คือ วิธีการสร้างคำอย่างหนึ่งของไทยด้วยวิธีการซ้ำคำมูลเดิม  ทำให้ความหมายของคำซ้ำที่ได้อาจเหมือนคำมูลเดิม  หรือความหมายของคำที่ได้อาจจะมีน้ำหนักหรือความชัดเจนมากขึ้น  หรือความหมายของคำที่ได้อาจจะมีน้ำหนักเบาลง  หรือความหมายของคำที่ได้อาจจะมีน้ำหนักกว้างออกไปอีก   หรือความหมายของคำที่ได้อาจแสดงความเป็นพหูพจน์  หรือความหมายของคำที่ได้อาจมีความหมายย้ายที่/เปลี่ยนไป/ความหมายใหม่   โดยเราจะเห็นว่ารูปของคำซ้ำนี้จะมีเครื่องหมายยมก (ๆ)  เข้ามาเกี่ยวข้อง  เช่นคำว่า  เบา ๆ,  ดี ๆ,  ช้า ๆ,  ไว ๆ,  ดัง ๆ  เป็นต้น ครับ

 

ความหมายในคำซ้ำ

ความหมายเหมือนคำมูลเดิม  เช่น

– หญิงคนนั้นชอบคนรวย ๆ  (ให้ความหมายว่า ร่ำรวย)

 

ความหมายที่มีน้ำหนักหรือเพิ่มความชัดเจนมากขึ้น  เช่น

– ทำการบ้านต้องทำให้ดี ๆ  (ให้ความหมายว่า ทำให้ดีหรือดียิ่งขึ้น)

– จงร่วมใจกันร้องเพลงให้เสียงดัง ๆ  (ให้ความหมายว่า ทำให้เสียงดังยิ่งขึ้น)

– ลูกเสือรีบ ๆ เข้าแถวด่วน  (ให้ความหมายว่า ให้รีบเร่งขึ้น)

– ดึก ๆ ดื่น ๆ ตื่นขึ้นมาทำอะไร  (ให้ความหมายว่า ดึกมากแล้ว)

 

ความหมายที่มีน้ำหนักเบาลง  เช่น

– ฉันมองเห็นเขาใส่เสื้อสีดำ ๆ   (ให้ความหมายว่า ใส่เสื้อสีที่อาจเป็นสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำล้วน  หรือมีสีอื่นปนอยู่ด้วย)

 

ความหมายที่มีน้ำหนักกว้างออกไปอีก  เช่น

– พี่ชายคนนั้นนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ก็ปวดท้องขึ้นมา  (ให้ความหมายว่า อาจมีอาการทั้งนั่ง นอน เดิน ก้มหน้าก้มตาและอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย)

 

ความหมายที่แสดงความเป็นพหูพจน์   เช่น

– เด็ก ๆ วิ่งเล่นอยู่ที่สนามกีฬาของโรงเรียน  (ให้ความหมายว่า มีเด็กจำนวนมากกว่าหนึ่ง)

 

ความหมายของคำที่ได้อาจมีความหมายย้ายที่/เปลี่ยนไป/ความหมายใหม่  เช่น

–  เรื่องผี ๆ พวกนี้เอามาเล่าทำไม  (ให้ความหมายว่า  เรื่องที่ไม่ดี)

–  งานนี้เรื่องหมู ๆ แป๊บเดียวก็เสร็จ  (ให้ความหมายว่า  ง่าย, ง่ายมาก)

–  จงเห็นว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นเรื่องกล้วย ๆ  (ให้ความหมายว่า  ง่าย, ง่ายมาก)

–  อยู่ ๆ เพื่อนคนหนึ่งก็ร้องลั่นขึ้นมา  (ให้ความหมายว่า  แสดงอาการโดยไม่ทราบสาเหตุ)

–  อย่าทำงานแบบลวก ๆ ไปส่งครูนะ  (ให้ความหมายว่า  การทำงานแบบมักง่ายหรือหยาบ)

–  บ้านนอกของเราก็กินอยู่พื้น ๆ อย่างนี้ล่ะ  (ให้ความหมายว่า  ธรรมดา,  ไม่พิถีพิถัน)

–  ไป ๆ มา ๆ  ทั้งสองก็ได้แต่งงานกันทั้งที่ก่อนเคยเกลียดกันมาก  (ให้ความหมายว่า  ในที่สุด)

–  เขารู้พองู  ๆ ปลา ๆ  (ให้ความหมายว่า  ไม่กระจ่าง,  ไม่รู้เรื่องมาก)

ลักษณะของคำซ้ำ

เขียนเหมือนกัน
อ่านเหมือนกัน
ความหมายเหมือนกัน
เป็นคำชนิดเดียวกัน
ทำหน้าที่เดียวกัน
อยู่ในประโยคเดียวกัน

 

เรียนรู้คำซ้ำแล้ว  เราก็รู้พึงตระหนักว่าคำซ้ำเป็นวิธีการสร้างคำอย่างหนึ่งของไทย  เพื่อให้ได้คำที่เพียงพอตามเจตนารมณ์สำหรับใช้ในการสื่อสารภาษาไทยนั่นเอง ครับ

 

ปิยะฤกษ์  บุญโกศล

๑๐ กันยายน ๒๕๕๗