บทอาขยานภาษาไทย

บทอาขยานภาษาไทย ช่วงชั้นที่ ๑ ถึง ช่วงชั้นที่ ๔  ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ  พุทธศักราช ๒๕๔๔

            วันนี้ครูปิยะฤกษ์  ขอนำรูปภาพบทอาขยานภาษาไทย  ซึ่งมาจากหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  บทอาขยานภาษาไทย  ช่วงชั้นที่ ๑ – ช่วงชั้นที่ ๔  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ มาให้ผู้ติดตามได้ดูหรือดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์  เพราะบางครั้งการที่เราจะไปค้นหนังสือเล่มนี้ก็ช่างลำบากเสียเหลือเกิน  เพราะหนังสือมีขนาดกะทัดรัดเฉพาะตัว   บทอาขยานหนังสือเล่มนี้บันทึกภาพสำเนามาใช้เพื่อประกอบการศึกษาเท่านั้น  จำนวน ๑๕๘ หน้า  ไฟล์สื่อภาพนิ่ง ๔ สี  ครับ  บทอาขยานนี้ยังนำมาใช้เป็น

บทอาขยานภาษาไทย ระดับประถมศึกษา  ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น   ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ  พุทธศักราช ๒๕๕๑

อีกด้วยครับ  เพราะยังยึดตามเล่มนี้

เอกสารบทอาขยานภาษาไทย พุทธศักราช ๒๕๕๑  ชุดที่ ๑

เอกสารบทอาขยานภาษาไทย พุทธศักราช ๒๕๕๑  ชุดที่ ๒

เอกสารบทอาขยานภาษาไทย พุทธศักราช ๒๕๔๒

อ่านเพิ่มเติม

คำสมาส : ในรูปแบบอินโฟกราฟิก (Infographic)

คำสมาส : ในรูปแบบอินโฟกราฟิก (Infographic)

วันนี้ ครูปิยะฤกษ์ขอนำความรู้เรื่อง “คำสมาสในรูปแบบอินโฟกราฟิก (Infographic)”  มาให้นักเรียนหรือผู้ที่สนใจได้ศึกษากันแบบง่าย ๆ ครับ

ที่มาขององค์ความรู้เรื่องนี้มาจาก ครั้งหนึ่งในชีวิตครูปิยะฤกษ์พยายามคิดผลิตสื่อการเรียนการสอน เมื่อประสบผลเป็นที่พอใจจึงได้ส่งเข้าประกวดจึงได้รับรางวัลเกียรติบัตรและโล่รางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ หมวดภาษาไทย ในการประกวด “ออกแบบสื่อการเรียนรู้ด้วย Infographic ประจำปี 2557” ตามโครงการยกระดับคุณภาพครูและนักเรียนด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสู่การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ประจำปีงบประมาณ 2557 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (วันที่ 9 ธันวาคม 2557 ณ กระทรวงศึกษาธิการ)

แล้ว อินโฟกราฟิก (Infographic) คืออะไรเอ่ย

อินโฟกราฟิกเป็นการแสดงผลของข้อมูลหรือความรู้โดยภาพที่อ่านและเข้าใจง่าย  จะง่ายหรือไม่ง่ายลองดูกันจากผลงานท้ายนี้นะครับ  ติชมกันได้ครับ

CF0C1FE9-5909-4F98-AA67-31A52AB7F4B7

 

ขอน้อมถวายอาลัย…พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

ขอน้อมถวายอาลัย…พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยimg_5663

1477617286808

วันที่ข้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยประชาชนชาวไทยและต่างประเทศต่างเศร้าโศกาอาดูรยิ่ง  ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙  ตรงกับวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

 

องค์ประกอบของพยางค์และคำ

องค์ประกอบของพยางค์และคำ

            หลังจากที่ครูปิยะฤกษ์ได้สอนนักเรียนผ่านการบันทึกเทปในกิจกรรม DLIT Classroom ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ ไปแล้วนั้น วันนี้จึงขอนำความรู้มาเสนอต่อผู้ที่สนใจที่ผ่านมาชมหรือติดตามบล็อกการศึกษาแห่งนี้ครับ ซึ่งการสอนเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายให้เข้าใจเรื่อง “องค์ประกอบ (โครงสร้าง) ของพยางค์และคำ” ในภาษาไทยให้มากขึ้น โดยสามารถนำไปใช้ในการเรียน การเตรียมตัวสอบเก็บคะแนน และสอบเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งกล่าวถึง “องค์ประกอบ (โครงสร้าง) ของพยางค์และคำ” ในภาษาไทย ซึ่งเกี่ยวกับ พยางค์ เป็นเสียงที่เปล่งออกมาแต่ละครั้ง จะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำ ส่วน คำ เป็นหน่วยของภาษาที่ประกอบด้วยเสียงและความหมาย คำจำแนกตามพยางค์ได้เป็นคำพยางค์เดียว และ คำหลายพยางค์ การแยกองค์ประกอบของพยางค์และคำนั้นทุกพยางค์ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ๓ ส่วนเท่านั้น ได้แก่ ๑. เสียงพยัญชนะต้น ๒. เสียงสระ ๓. เสียงวรรณยุกต์ ซึ่งให้ความรู้ในการวิเคราะห์องค์ประกอบ (โครงสร้าง) ของพยางค์และคำอย่างละเอียด พร้อมแล้วไปศึกษาจากสื่อวีดีโอที่เป็นบันทึกเทปการสอน ตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒  ใบความรู้ และตัวอย่างแบบทดสอบในครั้งนี้ได้เลยครับ  หากนักเรียนหรือผู้สนใจมีความไม่เข้าใจในเรื่องนี้สามารถสอบถามมาทางโพสต์เรื่องนี้ได้เลยครับ

 

เทปการสอน ตอนที่ ๑ เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ  โดยครูปิยะฤกษ์   บุญโกศล

 

เทปการสอน ตอนที่ ๒ เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ  โดยครูปิยะฤกษ์   บุญโกศล

 

ใบความรู้/เอกสารประกอบการสอน เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ  โดยครูปิยะฤกษ์   บุญโกศล

 

แบบทดสอบ เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ  โดยครูปิยะฤกษ์   บุญโกศล

 

 

 

ภาษาไทย ม.4 เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 2 โดย ครูปิยะฤกษ์ บุญโกศล

ภาษาไทย ม.4  เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 2 โดย ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

             จากการที่ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล  ได้ร่วมบันทึกเทปรายการ DLIT  Classroom  จำนวน 5 เทป ได้แก่  ภาษาไทย  ม.4 เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 1 และตอนที่ 2,  ภาษาไทย  ม.4 เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ ตอนที่ 1 และตอนที่ 2   และภาษาไทย  ม.4 เรื่องการเขียนสะกดคำ   ตามโครงการ “การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ” หรือ “Distance Learning  Information Technology (DLIT)” เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูตรงกลุ่มสาระการเรียนรู้ในโรงเรียนขนาดกลาง และพัฒนาคุณภาพการศึกษาในด้านต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ  ก่อนหน้านี้ ๓ เดือน ผู้ที่สนใจศึกษาก็ได้สอบถามเข้ามาในสื่อสังคมออนไลน์อยู่เป็นระยะว่าเวลาใดกันหนอที่เทปการสอนตอนที่ 2 จะออกเผยแพร่   มาถึงวันนี้ เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 2 โดย ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล ก็เผยแพร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 สมกับการที่ได้ตั้งหน้าตั้งตารอคอย เนื่องจาก สพฐ.โดยคณะทีมงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตรวจสอบความสมบูรณ์ของเนื้อหาและคุณภาพของวีดีโอผลงานชิ้นนี้อยู่นะครับ  
            ในเทปที่ 2 เรื่องเสียงในภาษานี้ เน้นการสอนเกี่ยวกับเสียงพยัญชนะ เสียงวรรณยุกต์ และแนวทางในการพิชิตข้อสอบให้ได้  พร้อมแล้ว…ไปศึกษากันได้เลยครับ  
            หากวีดีโอการสอนเรื่องนี้มีข้อควรพัฒนาหรือแก้ไขปรับปรุง อาทิ ด้านเนื้อหา การใช้ภาษา ครูปิยะฤกษ์ก็ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะโดยตรงจากผู้ศึกษาทุกท่านผ่านทางบล็อกในส่วนการแสดงความเห็นท้ายเรื่องในบล็อกนี้ครับ ยังมีอะไรค้างคาใจ หรือมีความขัดแย้งกันระหว่างองค์ความรู้ที่ปรากฏอยู่ ครูปิยะฤกษ์ก็พร้อมที่จะแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และยินดีรับฟังองค์ความรู้ที่ท่านมีอยู่เพื่อนำมาพัฒนาให้เกิดสื่อที่เป็นองค์ความรู้สาระวิชาภาษาไทย เรื่อง เสียงในภาษา มีความชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไปครับ

แบบทดสอบก่อนเรียน-หลังเรียน

ภาษาไทย ม.4 เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 1 โดย ครูปิยะฤกษ์ บุญโกศล

ภาษาไทย ม.4  เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 1 โดย ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

ความเป็นมา

ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล  โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29  (อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ)  ได้รับโอกาสที่ดีในการถูกคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ  ให้เป็นฟันเฟืองซี่หนึ่งในการพัฒนาสื่อแห่งวงการศึกษาเพื่อร่วมบันทึกเทปรายการ DLIT  Classroom  จำนวน 5 เทป ได้แก่  ภาษาไทย  ม.4 เรื่อง เสียงในภาษา ตอนที่ 1 และตอนที่ 2,  ภาษาไทย  ม.4 เรื่อง องค์ประกอบของพยางค์และคำ ตอนที่ 1 และตอนที่ 2   และภาษาไทย  ม.4 เรื่องการเขียนสะกดคำ   ตามโครงการ “การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ” หรือ “Distance Learning  Information Technology (DLIT)” เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูตรงกลุ่มสาระการเรียนรู้ในโรงเรียนขนาดกลาง และพัฒนาคุณภาพการศึกษาในด้านต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

จึงขอเชิญนักเรียนและผู้ที่สนใจมุ่งศึกษาจากเทปการสอนซึ่งเชื่อมต่อมาจาก YouTube และใบงานต่าง ๆ ได้ ณ โอกาสนี้ครับ  หากมีความผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย  และยินดีรับข้อเสนอแนะโดยตรงจากผู้แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ผ่านทางความเห็นผ่านบล็อกนี้ได้เลยครับ

 

 

เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ รายงานผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะการสร้างคำในภาษาไทย

บทคัดย่อ

 

ชื่อเรื่อง        รายงานผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะการสร้างคำในภาษาไทยและบาลี – สันสกฤต

ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร

ชื่อผู้วิจัย       นางสาวสุพักตร์  ทองแสง

ปีการศึกษา    2557

 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการสร้างคำในภาษาไทยและบาลี – สันสกฤต ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร ที่สอนโดยใช้แบบฝึกทักษะที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และมีค่าดัชนีประสิทธิผลตั้งแต่ 0.5 ขึ้นไปและเพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องการสร้างคำในภาษาไทยและบาลี – สันสกฤต ของนักเรียน    ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร ให้มีนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 ของคะแนนเต็ม

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร สังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 จำนวน 36 คน ได้มาโดยการสุ่มจับฉลากเลือกห้องตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 2 ประเภท โดยผู้วิจัยเป็นผู้สร้างขึ้น คือ แบบฝึกทักษะการสร้างคำในภาษาไทยและบาลี – สันสกฤต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องการสร้างคำในภาษาไทยและบาลี – สันสกฤต จำนวน 40 ข้อ มีค่าความยากง่าย (p) อยู่ระหว่าง 0.51 – 0.89 ค่าอำนาจจำแนก (r) อยู่ระหว่าง 0.23 – 0.59 และค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.62

ผลการวิจัยพบว่า

1) แบบฝึกทักษะการสร้างคำในภาษาไทยและบาลี – สันสกฤต ของนักเรียน  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร ที่สอนโดยใช้แบบฝึกทักษะมีประสิทธิภาพ 83.03/83.19 และมีค่าดัชนีประสิทธิผล 0.72 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้

2) นักเรียนร้อยละ 97.22 ของนักเรียนทั้งหมดมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 ของคะแนนแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาภาษาไทย เรื่องการสร้างคำในภาษาไทยและบาลี – สันสกฤต ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

ต่าง ๆ นานา หรือ ต่าง ๆ นา ๆ คำไหนหนาที่เขียนถูก

ต่าง ๆ นานา  หรือ  ต่าง ๆ นา ๆ  คำไหนหนาที่เขียนถูก

        หลายคนเมื่อเห็นคำว่า  “ต่าง ๆ นานา”  หรือ  “ต่าง ๆ นา ๆ” แล้ว  จะรู้สึกว่า “เอ๊ะ! คำไหนกันนะที่เขียนถูกกันแน่”

        วันนี้บล็อกการศึกษาเรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์ขอนำทุกท่านมารู้จักกับคำว่า “นานา”  ครับ   ซึ่งการนำเสนอเรื่องนี้นั้นเกิดจากการมีแรงบันดาลใจเรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้นใหม่  ด้วยมีนักเรียนคนหนึ่งไม่เข้าใจในการเรียนที่โรงเรียนจึงได้ถามเรื่อง “คำซ้ำ” และคำว่า  “นานา”  ในบล็อกแห่งนี้ครับ

          “นานา” ไม่ได้มีความหมายว่า “ทุ่งนา”  คำว่า นานา นี้จัดเป็นคำวิเศษณ์ซึ่งให้ความหมายว่า “ต่าง ๆ”   คำว่า  “ นานา”   ไทยเรารับอิทธิพลมาจากภาษาบาลี (ปาลิ : อักษรย่อของภาษานี้ ก็คือ ป. นั่นเองครับ)   ส่วนเวลานำมาใช้เรามักใช้กับคำว่า “ต่าง ๆ”  (คำซ้ำ) จึงได้คำว่า  “ต่าง ๆ นานา” (ซึ่งคำว่า ต่าง ๆ นานา นี้จัดเป็นคำซ้อนแล้วล่ะครับ)

        อย่างหนึ่งที่มักหลงลืมกันจะเขียนเป็น “ต่าง ๆ นา ๆ” ซึ่งถือว่าเขียนผิดครับ  ดังนั้น  คำว่า “นานา”  ไม่ใช่คำซ้ำครับ  แต่จัดเป็น “คำมูล” (คำมูล คือ คำที่มีความหมายในตัวเองจะแยกออกจากกันมิได้เพราะจะทำให้คำนั้น ๆ ไม่มีความหมาย   ซึ่งคำมูลนี้จะมีจำนวนพยางค์มากกว่า ๑ พยางค์ก็ได้ครับ)

        เอาเข้าแล้วล่ะสิครับ  “คำซ้ำ” คืออะไร?  เรามาเริ่มเรียนรู้ “คำซ้ำ” ให้รู้จริง รู้ลึกพร้อมกันเถอะ

 

คำซ้ำ คืออะไร?

คำซ้ำ  คือ วิธีการสร้างคำอย่างหนึ่งของไทยด้วยวิธีการซ้ำคำมูลเดิม  ทำให้ความหมายของคำซ้ำที่ได้อาจเหมือนคำมูลเดิม  หรือความหมายของคำที่ได้อาจจะมีน้ำหนักหรือความชัดเจนมากขึ้น  หรือความหมายของคำที่ได้อาจจะมีน้ำหนักเบาลง  หรือความหมายของคำที่ได้อาจจะมีน้ำหนักกว้างออกไปอีก   หรือความหมายของคำที่ได้อาจแสดงความเป็นพหูพจน์  หรือความหมายของคำที่ได้อาจมีความหมายย้ายที่/เปลี่ยนไป/ความหมายใหม่   โดยเราจะเห็นว่ารูปของคำซ้ำนี้จะมีเครื่องหมายยมก (ๆ)  เข้ามาเกี่ยวข้อง  เช่นคำว่า  เบา ๆ,  ดี ๆ,  ช้า ๆ,  ไว ๆ,  ดัง ๆ  เป็นต้น ครับ

 

ความหมายในคำซ้ำ

ความหมายเหมือนคำมูลเดิม  เช่น

– หญิงคนนั้นชอบคนรวย ๆ  (ให้ความหมายว่า ร่ำรวย)

 

ความหมายที่มีน้ำหนักหรือเพิ่มความชัดเจนมากขึ้น  เช่น

– ทำการบ้านต้องทำให้ดี ๆ  (ให้ความหมายว่า ทำให้ดีหรือดียิ่งขึ้น)

– จงร่วมใจกันร้องเพลงให้เสียงดัง ๆ  (ให้ความหมายว่า ทำให้เสียงดังยิ่งขึ้น)

– ลูกเสือรีบ ๆ เข้าแถวด่วน  (ให้ความหมายว่า ให้รีบเร่งขึ้น)

– ดึก ๆ ดื่น ๆ ตื่นขึ้นมาทำอะไร  (ให้ความหมายว่า ดึกมากแล้ว)

 

ความหมายที่มีน้ำหนักเบาลง  เช่น

– ฉันมองเห็นเขาใส่เสื้อสีดำ ๆ   (ให้ความหมายว่า ใส่เสื้อสีที่อาจเป็นสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำล้วน  หรือมีสีอื่นปนอยู่ด้วย)

 

ความหมายที่มีน้ำหนักกว้างออกไปอีก  เช่น

– พี่ชายคนนั้นนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ก็ปวดท้องขึ้นมา  (ให้ความหมายว่า อาจมีอาการทั้งนั่ง นอน เดิน ก้มหน้าก้มตาและอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย)

 

ความหมายที่แสดงความเป็นพหูพจน์   เช่น

– เด็ก ๆ วิ่งเล่นอยู่ที่สนามกีฬาของโรงเรียน  (ให้ความหมายว่า มีเด็กจำนวนมากกว่าหนึ่ง)

 

ความหมายของคำที่ได้อาจมีความหมายย้ายที่/เปลี่ยนไป/ความหมายใหม่  เช่น

–  เรื่องผี ๆ พวกนี้เอามาเล่าทำไม  (ให้ความหมายว่า  เรื่องที่ไม่ดี)

–  งานนี้เรื่องหมู ๆ แป๊บเดียวก็เสร็จ  (ให้ความหมายว่า  ง่าย, ง่ายมาก)

–  จงเห็นว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นเรื่องกล้วย ๆ  (ให้ความหมายว่า  ง่าย, ง่ายมาก)

–  อยู่ ๆ เพื่อนคนหนึ่งก็ร้องลั่นขึ้นมา  (ให้ความหมายว่า  แสดงอาการโดยไม่ทราบสาเหตุ)

–  อย่าทำงานแบบลวก ๆ ไปส่งครูนะ  (ให้ความหมายว่า  การทำงานแบบมักง่ายหรือหยาบ)

–  บ้านนอกของเราก็กินอยู่พื้น ๆ อย่างนี้ล่ะ  (ให้ความหมายว่า  ธรรมดา,  ไม่พิถีพิถัน)

–  ไป ๆ มา ๆ  ทั้งสองก็ได้แต่งงานกันทั้งที่ก่อนเคยเกลียดกันมาก  (ให้ความหมายว่า  ในที่สุด)

–  เขารู้พองู  ๆ ปลา ๆ  (ให้ความหมายว่า  ไม่กระจ่าง,  ไม่รู้เรื่องมาก)

ลักษณะของคำซ้ำ

เขียนเหมือนกัน
อ่านเหมือนกัน
ความหมายเหมือนกัน
เป็นคำชนิดเดียวกัน
ทำหน้าที่เดียวกัน
อยู่ในประโยคเดียวกัน

 

เรียนรู้คำซ้ำแล้ว  เราก็รู้พึงตระหนักว่าคำซ้ำเป็นวิธีการสร้างคำอย่างหนึ่งของไทย  เพื่อให้ได้คำที่เพียงพอตามเจตนารมณ์สำหรับใช้ในการสื่อสารภาษาไทยนั่นเอง ครับ

 

ปิยะฤกษ์  บุญโกศล

๑๐ กันยายน ๒๕๕๗

การใช้ “ทีฆายุโก หรือ ฑีฆายุโก และ ทีฆายุกา หรือ ฑีฆายุกา” ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง

          วันนี้ขอนำความรู้เรื่องการใช้  “ทีฆายุโก หรือ ฑีฆายุโก, ทีฆายุกา หรือ ฑีฆายุกา”  ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง   ซึ่งบทความนี้ได้คัดมาจากบทความของศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ  จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๙,  สิงหาคม ๒๕๓๗  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจเป็นอย่างมากครับ  ขอเชิญติดตามครับ

 

ทีฆายุโก – ฑีฆายุโก, ทีฆายุกา – ฑีฆายุกา

 

โดย ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ

 

          เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ไม่ว่าจะเป็น ๕ ธันวาคม หรือ ๑๒ สิงหาคม ก็ตาม มักจะพบป้ายหรือข้อความถวายชัยมงคลว่า ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา หรือ ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี ตามสถานที่ราชการ หรือในหนังสือพิมพ์ ตลอดจนวารสารรายสัปดาห์ รายปักษ์ หรือรายเดือนอยู่ทั่วไป เขียนกันถูกบ้าง ผิดบ้าง นั่นคือคำว่า ทีฆายุโก หรือ ทีฆายุกา ซึ่งจะต้องใช้ ท นั้น บางทีก็ใช้ ฑ อยู่บ่อย ๆ

          คำว่า ทีฆายุโก เป็นภาษาบาลี ใช้ ท แปลว่า มีอายุยืน เมื่อรวมข้อความที่ว่า ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา ตามตัวอักษรก็แปลว่า ขอพระมหาราชาจงทรงมีพระชนมายุยั่งยืนนาน แปลอย่างรวบรัดว่า ขอจงทรงพระเจริญ ที่ใช้ว่า ทีฆายุโก สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ทีฆายุกา สำหรับพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้น เป็นการเปลี่ยนรูปตามไวยากรณ์ เพราะคำว่า มหาราชา เป็น ปุงลิงค์ คือ เพศชาย จึงต้องใช้ ทีฆายุโก ส่วน มหาราชินี เป็น อิตถีลิงค์ คือ เพศหญิง จึงใช้ ทีฆายุกา

          เหตุที่บางคนเขียนเป็น ฑ นั้น คงเป็นเพราะตัว ฑ อยู่ใกล้กับ ฆ ซึ่งมีหัวหยัก เลยทำให้ ท มีหัวหยัก เลยกลายเป็น ฑ ตามไปด้วย

          คำในภาษาไทยที่มาจากภาษาบาลีที่เดิมเป็น ท แล้วมีผู้เขียนเป็น ฑ ในสมัยก่อน ๆ นั้น มีอยู่หลายคำ เช่น คำว่า ทูต  ซึ่งเป็นภาษาบาลี ใช้ ท ก็มีพบอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในหนังสือเก่าเขียนเป็น ฑูต  โดยใช้ ฑ หรือคำว่า มนเทียรบาล หนังสือเก่า ๆ เช่นในเรื่อง กฎมณเฑียรบาล  ก็ดี หรือ หมู่พระราชมณเฑียร  ก็ดี ที่คำว่า มณเฑียร  ก็ใช้ ฑ แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้เขียนเป็น มนเทียร  ใช้ ท เพราะคำนี้มาจากคำบาลีว่า มนฺทิร   ซึ่งแปลว่า เรือน  เมื่อแผลง อิ เป็น เอีย คำว่า มนฺทิร  จึงกลายเป็น มนเทียร  ทำนองเดียวกับแผลงคำว่า วชิร  เป็น วิเชียร หรือ พาหิร  เป็น พาเหียร   และ ปกีรณกะ  เป็น ปเกียรณกะ   ฉะนั้น

          จึงขอให้เขียนคำว่า ทีฆายุโก ให้ถูกต้อง ในฐานะที่เราเป็นประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงไม่ควรที่จะใช้ข้อความใด ๆ ที่เกี่ยวกับพระองค์ให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

          นอกจากนั้น ตามหนังสือพิมพ์รายวันแทบทุกฉบับ ก็มีทั้งคำว่า ทีฆายุโก และ ฑีฆายุโก ปะปนกันอยู่ในฉบับเดียวกัน จึงควรจะระมัดระวังให้มาก ความจริงก็มิได้ทำให้ความหมายเสียไป แต่ไม่ถูกต้องตามหลักภาษาเท่านั้นเอง เพราะคำว่า ฑีฆ  ในภาษาบาลีหรือสันสกฤตที่แปลว่า ยาว  นั้นไม่มี มีแต่ ทีฆ  เท่านั้น ความจริงเรื่องนี้ก็ได้มีผู้สอบถามมาอยู่เสมอ แต่การเขียนก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ยังมีที่ผิด ๆ ให้เห็นอยู่ แม้จะน้อยลงบ้างก็ตาม ยิ่งคำว่า ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี ด้วยแล้ว บางทีก็เขียนเป็น ทีฆายุโก โหตุ มหาราชินี และบางทีที่คำว่า “ทีฆายุโก” ใช้ ฑ แต่ในปัจจุบันการเขียนถูกต้องเกือบ ๑๐๐% แล้ว เพียงแต่คำว่า ทีฆายุโก และ ทีฆายุกา บางทียังใช้ ฑ แทน ท อยู่บ้างเท่านั้น จึงขอให้ช่วยกันระมัดระวังและเขียนให้ถูกต้องด้วย.

ผู้เขียน :  ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ  ราชบัณฑิตประเภทปรัชญา สาขาวิชาตรรกศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง

ที่มา :  จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๙, สิงหาคม ๒๕๓๗

วันภาษาไทยแห่งชาติ : มารู้ที่มาของวันนี้

วันภาษาไทยแห่งชาติ : มารู้ที่มาของวันนี้

            วันนี้ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม สำหรับคนไทยหลายคนรู้จักกันดีว่าวันนี้เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ”  ครับ  เอ…แล้ววันภาษาไทยแห่งชาติมีความเป็นมาอย่างไร   เอาล่ะ…เรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์  จึงขอเสนอความรู้เกี่ยวกับวันภาษาไทยแห่งชาติให้ผู้ที่ผ่านมาศึกษาได้ทำความเข้าใจหรือรู้จักวันนี้ให้ดียิ่งขึ้นครับ

วันภาษาไทยแห่งชาติ

(ตรงกับวันที่  ๒๙  กรกฎาคม  ของทุกปี)

ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ

          สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีในปี  ๒๕๔๒  ได้ประกาศให้วันที่  ๒๙  กรกฎาคม  ของทุกปี  เป็น  “วันภาษาไทยแห่งชาติ”  โดยถือกำหนดจากวันที่  ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย ” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในวาระอันเป็นประวัติศาสตร์ครั้งนั้น  พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริและพระราชวินิจฉัยที่มีคุณค่ายิ่งเกี่ยวกับภาษาไทยและการรักษาภาษาไทยให้บริสุทธิ์  ซึ่งได้แสดงให้ประจักษ์ถึงพระปรีชาพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยที่มีต่อการใช้ภาษาไทย จนเป็นที่ประทับใจผู้ร่วมประชุมครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่ง  ความว่า

                 “เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้…สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็น ในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”

วัตถุประสงค์

             คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เห็นชอบให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

              ๑. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

              ๒. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒

              ๓. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณ ค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติ ไทยตลอดไป

              ๔. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

              ๕. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่าง ๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

            เป็นอย่างไรบ้างครับ จากความรู้ที่นำมาฝากกันเกี่ยวกับความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ  ภาษาไทยถือว่าเป็นภาษาของชาติไทย  เป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นไทย   ส่วนบล็อกแห่งนี้ก็หวังที่จะให้นักเรียนหรือผู้ที่ผ่านมาศึกษาได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่า “ทำอย่างไรภาษาไทยของเราจึงจะไม่วิบัติ”  ครับ 

การใช้ พลาง – พราง ในข้อความเพื่อสื่อความหมาย

การใช้ พลาง – พราง ในข้อความเพื่อสื่อความหมาย

      วันนี้ขอเสนอเกร็ดความรู้ภาษาไทยที่หลายคนมองข้าม การใช้ พลาง หรือ พราง ในข้อความเพื่อสื่อความหมาย การที่ออกเสียงคำว่า พลาง หรือ พราง ก็ดี หากออกเสียงคำใดคำหนึ่งผิดก็จะทำให้ความหมายเปลี่ยนทันที ดังนั้น มาเริ่มทำความรู้จักความหมายของคำสองคำนี้กัน ครับ

      พลาง เป็นคำวิเศษณ์ พลาง หมายถึง ในระยะเวลาเดียวกัน (มักใช้กับกริยาที่ควบคู่กัน) เช่น น้องต่างพลางกินพลางเล่น หรือหมายถึง ชั่วระหว่างเวลา (ที่ยังไม่พร้อมหรือยังไม่ถึงกำหนดเป็นต้น) เช่น ให้ใช้ข้อบังคับตามกำหนดนี้ไปพลางก่อน, อบอุ่นร่างกายรอไปพลางก่อนกรรมการเรียกลงสนามแข่งขันฟุตบอล เป็นต้น ส่วน

     พราง เป็นคำกริยา พราง หมายถึง ทำให้เข้าใจเป็นอื่น, ทำให้เลือน เช่น ทหารพรางตัวด้วยการใช้ชุดลายพราง เป็นต้นครับ

     ดังนั้น ควรใช้คำสองคำนี้ให้ถูกต้องด้วยการออกเสียงและเขียนสะกดคำให้ถูกต้องตรงตามความหมายที่ต้องการสื่อสาร ปัญหาจากการสื่อสารก็จะไม่เกิดขึ้นแน่นอนครับ

โดย

ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

ผ้าป่า คืออะไร รู้ไว้ไม่เสียหลาย

ผ้าป่า คืออะไร รู้ไว้ไม่เสียหลาย

                  หลายคนคงได้ยินคำว่า “ผ้าป่า” คำนี้มาตั้งแต่เมื่อเริ่มจำความได้ (ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทางภาษาของแต่ละคนครับ) เพราะว่าผ้าป่ามีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชน ซึ่งเป็นศาสนาที่คนไทยนั้นนับถือกันเป็นส่วนใหญ่ ครับ
ผ้าป่า ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดเป็นคำนาม หมายถึง “ผ้า (พร้อมทั้งเครื่องบริวาร ถ้ามี) ที่นําเอาไปวางทอดไว้เสมือนว่าเป็นผ้าที่ทิ้งอยู่ในป่า เพื่อให้พระชักเอาไป เป็นทํานองผ้าบังสุกุล มักทําเป็นปรกติต่อท้ายทอดกฐิน เรียกว่า ทอดผ้าป่า”
                  ผ้าป่า จัดเป็นการทำบุญซึ่งนิยมกันมากอย่างหนึ่ง มีชื่อเรียกตามลักษณะการรวมกันของเครื่องบริวาร หรือ ตามวัตถุประสงค์ของการทำบุญที่เกี่ยวกับงานที่จัดขึ้น เช่น ผ้าป่าข้าวสาร ผ้าป่าข้าวเปลือก ผ้าป่าหนังสือ ผ้าป่าต้นไม้ ผ้าป่าการศึกษา ผ้าป่าเสื้อต้านภัยหนาว ผ้าป่าขยะรีไซเคิล ผ้าป่าไถ่ชีวิตโคกระบือ เป็นต้น
                  ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนบ้างก็เคยบอกกับผู้เขียนว่า ผ้าป่านั่นเป็นผ้าที่ผู้ถวายนำไปวางพาด (ทอด) ไว้บนกิ่งไม้เพื่อให้พระชักเอาไปเองโดยไม่กล่าวคำถวายหรือประเคนเหมือนถวายของทั่วไป กรณีที่พระหยิบผ้าไปแล้วนี้ เรียกว่า “ชักผ้าป่า” ผ้าที่นำไปพาดไว้ที่กิ่งไม้บางทีก็ตกแต่งผ้าเป็นรูปลิงหรือชะนีห้อยโหนที่กิ่งไม้บ้าง เป็นผ้าสบงผืนบ้าง หรือเป็นผ้าไตรจีวรบ้าง แล้วแต่ผู้ทอดผ้าป่าจะสรรหามาทอดได้ไว้ ณ กิ่งไม้ที่สมมติขี้นหรือต้นเงินผ้าป่าที่จัดไว้แล้ว
                   ดังนั้น คำว่า ผ้าป่า จึงมีความหมายที่กว้างมากขึ้นกว่าเดิมที่ให้นิยามไว้ จากเดิมว่า “ผ้าที่ทอด หรือวางทิ้งไว้ที่กิ่งไม้ในป่า” ขยายเป็น “เงินหรือสิ่งของที่บริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์” ปัจจุบัน พบว่าพิธีการทอดผ้าป่านั้นไม่จำเป็นต้องนำผ้าไปวางทิ้งหรือทอดไว้ในป่า อีกแล้ว เพราะปรับให้เข้ากับสังคมสมัยโดยถือความสะดวกของสาธุชนผู้มาร่วมประกอบพิธีทอดผ้าป่า ซึ่งถือว่าได้อุปโลกน์เป็นผ้าป่าไปแล้ว
                   ประเทศไทยของเรานั้น เมื่อชุมชนหรือองค์กรที่จะจัดงานผ้าป่าได้ปรึกษาหารือหรือตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยเกี่ยวกับการจัดงานให้การทอดผ้าป่า ก็จะมีกำหนดการที่แน่นอน จากนั้นฝ่ายเจ้าภาพผ้าป่าหลัก แยกกันออกเป็นสายบ้างก็จะมีการบอกบุญด้วยวาจาบ้าง ฎีกาพร้อมซองผ้าป่าบ้างสู่พุทธบริษัทสาธุชนผู้ใจบุญอันที่จะร่วมสละทาน จตุปัจจัย สิ่งของตามความศรัทธาและอัตภาพที่จะร่วมสละได้ด้วยจิตอันบริสุทธิ์ นำไปสู่ทำให้ได้เงินทอง เครื่องบริวารต่าง ๆ จำนวนมาก เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาทำพิธี “ทอดผ้าป่า” โดยผ่านการพิจารณาผ้าบังสุกุลหรือผ้าป่าจากตัวแทนคณะสงฆ์ แล้วก็นำเงินทอง สิ่งของ หรือปัจจัยเหล่านั้นมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการมอบให้วัดดำเนินการต่อไป หรือมอบให้แก่โรงเรียนเพื่อนำไปดำเนินการพัฒนาการศึกษาหรือสถานศึกษาต่อไป หรือมอบให้ผู้อื่น เช่น ผู้นำชุมชนเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของการทำบุญผ้าป่า เป็นต้น ครับ

คำศัพท์-ความหมายของคำศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับ “ผ้าป่า”

ทอดผ้าป่า หมายถึง เอาผ้าถวายพระโดยวางไว้เพื่อให้พระชักเอาเอง คำนี้เป็นคำกริยา
ผ้าป่าสามัคคี หมายถึง ผ้าป่าที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจพร้อมเพรียงกันทำครั้งนั้น ๆ ขึ้นมา
เครื่องบริวารผ้าป่า หมายถึง ข้าวของที่จัดถวายในการทอดผ้าป่า เช่น ข้าวสาร สมุด ดินสอ หนังสือ ต้นไม้ ดอกไม้ เป็นต้น คำนี้เป็นคำนาม
ผ้าบังสุกุล หมายถึง เรียกกิริยาที่พระภิกษุชักผ้า (ที่เกี่ยวกับผ้าป่า) คำนี้เป็นคำนาม
ชักผ้าป่า หมายถึง อาการที่พระภิกษุพิจารณาและชักผ้าบังสุกุล
ฎีกาผ้าป่า หมายถึง ใบบอกบุญเรี่ยไรการจัดงานผ้าป่าครั้งนั้น ๆ

ตัวอย่างฎีกาผ้าป่า

This slideshow requires JavaScript.

คำถวายผ้าป่า

อิมานิ มะยัง ภันเต ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ
ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต
ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ
ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ฯ
ข้า แต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ ฯ

ในปี ๒๕๕๖ โรงเรียนเขื่องในพิทยาคารได้ระดมทรัพยากรในการจัดหาผ้าป่าเพื่อการศึกษา

                  เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา จากการเตรียมงานนับปีเพื่อการจัดงานทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อการศึกษาและการเปิดอาคารเรียน “พรหมวชิรญาณ” สมทบทุนสร้างลานปฏิบัติธรรมและห้องเกียรติยศพรหมวชิรญาณ ในการนี้ได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๐ และเจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร มาประกอบมงคลพิธี (ประธานฝ่ายสงฆ์) และได้รับเกียรติจากนายประวิทย์ หลักบุญ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒๙ (ประธานฝ่ายฆราวาส) ว่าที่ ร.ต. กมล สาดศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนเขื่องในพิทยาคารกล่าวรายงานการจัดงาน“เปิดอาคารเรียน “พรหมวชิรญาณ” และทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อสมทบทุนสร้างลานปฏิบัติธรรมและห้องเกียรติยศ “พรหมวชิรญาณ” นอกจากนี้ท่าน ส.ส. วุฒิพงษ์ นามบุตร รองประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติร่วมงานและมอบครุภัณฑ์เครื่องดนตรีวงโยธวาทิตแก่โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร ในการจัดงานครั้งนี้ ในนามโรงเรียนเขื่องในพิทยาคารบล็อกการศึกษาออนไลน์ (เรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์) แห่งนี้ขอกราบนมัสการขอบพระคุณพระคุณเจ้าพระเถรานุเถระทุกรูป ขอขอบคุณข้าราชการที่มาร่วมงานทุกสังกัดทุกหน่วยงาน พ่อค้า ประชาชนทั้งตำบลใกล้เคียงและต่างจังหวัด ศิษย์เก่าโรงเรียนเขื่องในพิทยาคารทุกรุ่น เครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร และผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้ร่วมกันทำบุญด้วยทรัพย์ปัจจัยตามกำลังศรัทธาและได้สละเวลาอันมีค่าของท่านมาร่วมงานในครั้งนี้ ครับ

บรรยากาศในการจัดงาน

โดย ปิยะฤกษ์ บุญโกศล

เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ รายวิชา คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ รายวิชา คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

            เรื่องดี ๆ สำหรับคุณครูผู้สอนคณิตศาสตร์  วันนี้ คุณครูกัญญารัตน์  นาชัยภูมิ  ครู โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร ขอเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ เรื่อง “แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์  เรื่อง อสมการ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3” 

            หากผู้อ่านสนใจดาวน์โหลดไว้ศึกษาสามารถคลิกที่ชื่อเรื่องท้ายนี้โหลดไว้ใช้ได้เลยครับ

               —  –  คำนำ

               —  –  เล่ม 2 ประโยคภาษาและประโยคสัญลักษณ์ 

 

“ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น” สำนวนไทยนี้มีความหมายว่า?

“ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น” สำนวนไทยนี้มีความหมายว่า?

          สำนวนที่ว่า  “ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น”  จัดอยู่ในคำวิเศษณ์  เรามาพิจารณาสำนวนนี้กันครับ  “ถี่-ห่าง”  ถ้านำสองคำนี้มารวมกัน เราจะได้คำใหม่ในภาษาไทยว่า “ถี่ห่าง” ส่วนมากอยู่รวมกันกับคำว่า “ชั่วดี” จะได้ว่า “ชั่วดีถี่ห่าง”  จัดว่าเป็น “คำซ้อน”  (เพราะเป็นการนำคำที่มีความหมายตรงกันข้ามมาซ้อนกัน) 

          ช้าง  เป็นสัตว์ที่มีร่างกายขนาดใหญ่ แต่มีดวงตาที่เล็กมาก

          เล็น  หมายถึง แมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กมาก  เมื่อกัดจะทําให้เกิดความระคายเคืองต่อร่างกายซึ่งอาจหมายถึงพวกไร เหา เห็บ หมัด  หรือมด ก็ได้  แต่เมื่อเทียบกับลำตัวของมันกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ แล้ว มันก็มีดวงตาที่ใหญ่มาก 

          สำนวนนี้ เดิมใช้ว่า ถี่ลอดตัวช้าง ห่างลอดตัวเล็น   ต่อมาได้กลายเสียงเป็น ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น และก็มีการใช้สำนวนนี้กันมาถึงปัจจุบัน  

          ข้อความในสำนวนนี้พบว่า มีคำคู่ขัดแย้งกันและไม่เป็นไปตามเหตุผล ครับ  นี่แหละจึงเป็นเหตุผลของสำนวน   ที่ว่า ถี่  แต่ช้างกลับลอดได้ทั้งตัว  นั้นหมายถึง ไม่ถี่ถ้วนจริง  คำว่า  “ถี่ลอดตัวช้าง” กับ “ห่างลอดตัวเล็น”   ถ้าพิจารณาตามเหตุตามผลต้องกล่าวว่า  “ห่างลอดตัวช้าง  ถี่ลอดตัวเล็น” จึงจะถูกต้อง 

          ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น  หมายถึง  “ดูเหมือนรอบคอบถี่ถ้วนแต่ไม่รอบคอบถี่ถ้วนจริง, ประหยัดในสิ่งที่ไม่ควรประหยัด ไม่ประหยัดในสิ่งที่ควรประหยัด ครับ

          มีสำนวนไทยอีกจำนวนมากที่เราคนไทยต้องรู้ในรูปของสำนวนและความหมายของสำนวนเพื่อจะได้นำไปใช้ให้ถูกต้องตรงตามความหมายสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน นะครับ

สำนวนไทยพร้อมความหมายที่ควรรู้

               วันนี้  จึงขอเสนอสำนวนไทยบางสำนวน  เพื่อให้นักเรียนรวมถึงนักอ่านผู้ท่องเว็บเก็บความรู้จากบล็อกการศึกษาออนไลน์เรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์ได้รู้จักสำนวนไทยและความหมายพอหอมปากหอมคอ ดังนี้ ครับ

สำนวน

ความหมาย

กินน้ำใต้ศอก

จําต้องยอมเป็นรองเขา, ไม่เทียมหน้าเทียมตาเท่า (มักหมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมลงให้แก่เมียหลวง)

กินน้ำเห็นปลิง

รู้สึกตะขิดตะขวงใจ (เหมือนจะกินน้ำเห็นปลิงอยู่ในน้ำก็กินไม่ลง)

กลิ้งครกขึ้นภูเขา

เรื่องที่ตนกำลังจะทำนั้นถ้าจะทำให้สำเร็จนั้นทำได้ยากลำบาก จึงต้องใช้ความพยายามและความสามารถอย่างมาก

กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้

ลักษณะของการทำงานที่มีความลังเลใจ ทำให้แก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงทีเมื่อได้อย่างหนึ่ง แต่ต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป ดุจเอาถั่วกับงามาคั่วพร้อมกัน กว่าจะคั่วจนถั่วสุก งาก็จะไหม้หมดไปก่อน

กำขี้ดีกว่ากำตด

ได้บ้างดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน

เก็บเล็กผสมน้อย, ทําอะไรที่ประกอบด้วยส่วนเล็กส่วนน้อย โน่นบ้างนี่บ้าง จนสําเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

แกว่งเท้าหาเสี้ยน

หมายถึงคนที่เข้าไปยุ่งเรื่องของคนอื่นทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็น จนทำให้ตัวเองได้รับความเดือนร้อน

ใกล้เกลือกินด่าง

สิ่งที่หาได้ง่ายหรืออยู่ใกล้ตัวที่มีคุณค่ากว่า กลับไม่เอา  แต่กลับไปเอาสิ่งที่อยู่ไกลหรือหายาก แต่มีคุณค่าด้อยกว่ามาใช้

ขี่ช้างจับตั๊กแตน

ลงทุนมากแต่ได้ผลเพียงเล็กน้อย

ขว้างงูไม่พ้นคอ

ทําอะไรแล้วผลร้ายกลับมาสู่ตัวเอง

ข้าวใหม่ปลามัน

อะไรที่เป็นของใหม่ก็ถือว่าดี, นิยมเรียกช่วงเวลาที่สามีภรรยาเพิ่งแต่งงานกันใหม่ ๆ ว่า ระยะข้าวใหม่ปลามัน

เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม

ประพฤติตนตามที่คนส่วนใหญ่ประพฤติกัน

แขกไม่ได้รับเชิญ

คนหรือสัตว์ที่ไม่พึงปรารถนาซึ่งเข้ามาทำให้เกิดความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญ

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก

เรื่องราวที่เกิดเดือนร้อนขึ้นมา กำลังมีปัญหาและแก้ไขอยู่ ก็เกิดมีปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามา

ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

มีความรู้มากแต่ไม่รู้จักใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์

คอหอยกับลูกกระเดือก

เข้ากันได้ดี แยกกันไม่ออก

ฆ้องปากแตก

ปากโป้ง, เก็บความลับไม่อยู่,  ชอบนำความลับของผู้อื่นไปเปิดเผย

ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก

ทำการใหญ่ไม่ควรตระหนี่

จับตัววางตาย

กำหนดลงไปแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง

เจ้าไม่มีศาล สมภารไม่มีวัด

ผู้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์

ปล่อยไปตามเรื่องราว ไม่เอาเป็นธุระ

เชื้อไม่ทิ้งแถว

เป็นไปตามเผ่าพันธุ์

ซื่อเหมือนแมวนอนหวด

ทำเป็นซื่อ

ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าตรุษ

ซื้อของไม่คำนึงถึงเวลาหรือฤดูกาลย่อมได้ของที่มีราคาแพง

ดินพอกหางหมู

คั่งค้างพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ

เด็ดบัวไม่ไว้ใย

ตัดขาดกัน, ตัดญาติขาดมิตรกันเด็ดขาด

ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้

ตกอยู่ในที่คับขันอย่างไรก็ไม่เป็นอันตราย, ตกอยู่ที่ใดก็ไม่สูญหาย

ตบมือข้างเดียวไม่ดัง

ทำอะไรฝ่ายเดียวย่อมไม่เกิดผล

ถอนต้นก่นราก

ทำลายให้ถึงต้นตอ

ถอนหงอก

ไม่นับถือความเป็นผู้ใหญ่

ที่เท่าแมวดิ้นตาย

ที่ดินหรือเนื้อที่เล็กน้อย

นกรู้

ผู้ที่มีไหวพริบรู้เท่าทันเหตุการณ์หรือภัยที่จะมาถึงตน

นั่งในหัวใจ

รู้ใจ, ทำถูกต้องตรงตามที่ผู้อื่นคิดไว้

น้ำตาตกใน

เศร้าโศกเสียใจอย่างมาก แต่ไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

บอกเล่าเก้าสิบ

บอกกล่าวให้รู้

บ้าหอบฟาง

บ้าสมบัติ เห็นอะไร ๆ เป็นของมีค่าก็จะเอาทั้งนั้น  หรือ อาการถือเอาสิ่งของ หอบหิ้วสิ่งของพะรุงพะรัง

เบี้ยบ้ายรายทาง

เงินที่จะต้องใช้จ่ายหรือเสียไปเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ในขณะทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ

ปรานีตีเอาเรือ

เอ็นดูหรือเผื่อแผ่เขาแต่กลับถูกประทุษร้ายตอบ

ปลาติดหลังแห

คนที่พลอยได้รับเคราะห์กรรมร่วมกับผู้อื่นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนพัวพันด้วย

ปากหวานก้นเปรี้ยว

พูดจาอ่อนหวานแต่ไม่จริงใจ

ผ้าขี้ริ้วห่อทอง

คนมั่งมีแต่แต่งตัวซอมซ่อ

ผีซ้ำด้ำพลอย

ถูกซ้ำเติมเมื่อพลาดพลั้งลงหรือเมื่อคราวเคราะห์ร้าย

พอก้าวขาก็ลาโรง

ชักช้าทำให้เสียการ

พูดอย่างมะนาวไม่มีน้ำ

พูดห้วน ๆ

ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด

ฟังไม่ได้ความแน่ชัดแล้วเอาไปพูดต่อหรือทำผิด ๆ พลาด ๆ

ฟ้าไม่กระเทือนสันหลัง

อำนาจเบื้องบนหรือผู้ปกครองยังไม่ลงโทษทัณฑ์,  ถ้าฟ้าไม่กระเทือนสันหลังก็ยังไม่รู้สึก

มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก

พูดจาตลบตะแลงพลิกแพลงไปมาจนจับคำพูดไม่ทัน

มะพร้าวตื่นดก

เห่อหรือตื่นเต้นในสิ่งที่ตนไม่เคยมีไม่เคยได้จนเกินพอดี

มัดมือชก

บังคับหรือใช้วิธีการใด ๆ ให้อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในภาวะจำยอมโดยไม่มีทางต่อสู้

แม่สายบัวแต่งตัวค้าง

ผู้หญิงที่นัดกับคนอื่นแล้วแต่งตัวคอยผู้มารับเพื่อออกนอกบ้าน แต่เขาไม่มาตามนัด

ยาวบั่นสั้นต่อ

รักจะอยู่ด้วยกันนาน ๆ ให้ตัดความคิดอาฆาตพยาบาทออกไป  รักจะอยู่ด้วยกันสั้น ๆ ให้คิดอาฆาตพยาบาทเข้าไว้

ยุให้รำตำให้รั่ว

ยุให้แตกกันหรือยุให้ผิดใจกัน

รวบหัวรวบหาง

ทำให้เสร็จโดยเร็ว

ร้อนวิชา

เร่าร้อนอยากจะแสดงวิชาความรู้พิเศษจนอยู่ไม่เป็นปกติ

ล้มมวย

สมยอมหรือทำให้สมยอมกันในทางไม่สุจริต

ลากหนามจุกช่อง

ยกเรื่องต่าง ๆ มาอ้างป้องกันตัว หรือ ขัดขวางไม่ให้คนอื่นได้รับประโยชน์ในเมื่อตนเองไม่ได้รับประโยชน์ด้วย

เลือดข้นกว่าน้ำ

ญาติพี่น้องย่อมดีกว่าคนอื่น

วันพระไม่มีหนเดียว

วันหน้ายังมีโอกาสอีก ใช้ในการแก้แค้นหรือเอาคืน

วัวสันหลังหวะ

คนที่มีความผิดติดตัวทำให้คอยหวาดระแวง

ศรศิลป์ไม่กินกัน

ไม่ถูกกัน หรือ ไม่ลงรอยกัน หรือ ไม่ชอบหน้ากัน

ศิษย์มีครู

คนเก่งที่มีครูเก่ง

สวมหมวกหลายใบ

ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน

สะดุดขาตัวเอง

ทำผิดหลักเกณฑ์ที่ตนกำหนดไว้เอง

เส้นผมบังภูเขา

เรื่องง่าย ๆ แต่คิดไม่ออก เหมือนมีอะไรมาบังอยู่

หนังหน้าไฟ

ผู้ได้รับความเดือดร้อนก่อนผู้อื่น

หนีเสือปะจระเข้

หนีภัยอันตรายอย่างหนึ่งแล้วต้องพบภัยอันตรายอีกอย่างหนึ่ง

หนูตกถังข้าวสาร

ผู้ชายที่มีฐานะไม่ค่อยดีได้แต่งงานกับผู้หญิงที่ร่ำรวย

เอากุ้งฝอยไปตกปลากะพง

ลงทุนน้อยหวังผลกำไรมาก

เอาปูนหมายหัว

ผูกอาฆาตไว้, ประมาทหน้าว่าไม่มีทางจะเอาดีได้

เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ

โต้ตอบหรือทะเลาะกับคนพาลหรือคนที่มีฐานะต่ำกว่าเป็นการไม่สมควรทำ

         ขอปิดท้ายนำเสนอสำนวนไทยที่เป็นสื่อวีดีโอให้ผู้สนใจได้ศึกษาด้วยครับ

ที่มาของลิงก์วีดีโอ/ขอขอบคุณ  :  http://www.youtube.com/watch?v=dv0UO03NAOk  จากคุณ Saharat Taengwichien ครับ

         เป็นอย่างไรบ้างครับ กับสำนวนไทยที่นำเสนอไปนั้น คงไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปนะครับ   จำได้ทั้งรูปสำนวนและความหมายของสำนวน (แบบยากที่จะลืมกัน) กี่สำนวนเอ่ย  บล็อกการศึกษาออนไลน์เรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า  “สำนวนไทยพร้อมความหมายที่ควรรู้” ที่ได้นำเสนอนี้  คงเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษานะครับ

เขียนโดย  ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

  ๑๐  มีนาคม  ๒๕๕๗

“อิจฉาริษยา” เป็นอย่างไร มาเรียนรู้คำที่ใช้ในภาษาไทยของเรากันเถอะ

“อิจฉาริษยา” เป็นอย่างไร มาเรียนรู้คำที่ใช้ในภาษาไทยของเรากันเถอะ

          คำว่า  “อิจฉาริษยา”  เราได้ยินจนคุ้นหู  วันนี้ผู้เขียนได้ดูละครโทรทัศน์ได้ยินคำนี้ที่ตัวละครพูดกัน  บล็อกการศึกษาออนไลน์เรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์ก็เลยขอยกตัวอย่างคำนี้ เพื่อนำทุกท่านที่ท่องเว็บเก็บความรู้มาทำความรู้จักกับคำ ๆ นี้  ให้ดียิ่งขึ้นครับ

          อิจฉา  (อ่านว่า อิด-ฉา)  ตามความหมายในพจนานุกรม  หมายถึง  เห็นเขาได้ดีแล้วไม่พอใจ  จึงอยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง  จัดเป็นคำกริยา  คำนี้มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต  (รากศัพท์เดิมเป็น อิจฺฉา)

          ริษยา  (อ่านว่า ริด-สะ-หฺยา)  ตามความหมายในพจนานุกรม  หมายถึง  อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี หรือ เห็นคนอื่นได้ดีกว่าเราแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้ (ซึ่งนับไปสู่การขัดขวางหรือทำร้ายคนอื่น)  คำนี้จัดเป็นคำกริยา  มาจากภาษาบาลี (รากศัพท์เดิมเป็น อิสฺสา)  สันสกฤต  (รากศัพท์เดิมเป็น อีรฺษฺยา)

          เราจะพบว่า  คำสองคำข้างต้นมีความหมายที่ใกล้เคียงกัน  แต่คำว่า  “ริษยา”  จะมีความหมายที่หนักกว่า  “อิจฉา”  ดังนั้นถ้าจะแยกคำสองคำนี้ออกจากกันเราต้องเลือกสรรคำและใช้คำให้ถูกต้องตรงตามความหมายนะครับ

          เมื่อคำว่า  “อิจฉา”  และ  “ริษยา”  มาอยู่ด้วยกัน  กลายเป็น  “อิจฉาริษยา”  ซึ่งจะเป็นการให้ความหมายที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันทั้ง ๒ กริยา  ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างคำใหม่ในภาษาไทยด้วยวิธี “ซ้อนคำ”  คำที่ได้จัดว่าเป็น  “คำซ้อน”  เรามาเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “คำซ้อน”  กันเถอะครับ

 

คำซ้อน คือ?

          คำซ้อน คือ  คำใหม่ในภาษาไทยที่เกิดจากการสร้างคำ  โดยนำคำมูลตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปซึ่งมีความหมายเหมือนกัน  ใกล้เคียงกัน  เกี่ยวข้องกัน  หรือมีความหมายตรงข้ามกันมาซ้อนคำเรียงต่อกัน    ทำให้เกิดคำที่มีความหมายแคบลง  คงที่   กว้างขึ้น  หรือเปลี่ยนไป (การอุปมา)

 

ข้อควรสังเกตเกี่ยวกับคำซ้อน

          คำซ้อน  สร้างจากคำมูล (คำดั้งเดิม)  มาเรียงต่อกัน  คำที่นำมาซ้อนกันอาจเป็นนาม  กริยา  หรือวิเศษณ์ก็ได้  

          ในภาษาไทยของเรา ส่วนมากการซ้อนคำต้องนำคำมูลชนิดเดียวกันมาเรียงเข้าด้วยกัน   ตัวอย่างเช่น

                  นามกับนาม  เช่น   เสื่อสาด  ตับไต  จอบเสียม  ถ้วยโถโอชาม

                  กริยากับกริยา เช่น  พัดวี  เรียกร้อง  สั่งสอน  กวดขัน  เด็ดขาด  อบอุ่น  เก็บหอม

                  วิเศษณ์กับวิเศษณ์ เช่น  อ้วนท้วน  แข็งแกร่ง นุ่มนิ่ม  ฉับพลัน  ซีดเซียว

          และเราจะพบว่า  คำมูลนั้นจะนำมาจากภาษาใดก็ได้  อาจเป็นคำไทยกับคำไทย  คำไทยกับคำที่มาจากภาษาอื่น หรือเป็นคำที่มาจากภาษาอื่นทั้งหมด  ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ครับ

                คำไทยกับคำไทย   เช่น  ปูปลา  ผีสาง  อ้อนวอน  อ้วนพี  แขนขา  ชุกชุม  เจ้านาย   งดงาม

                คำไทยกับคำเขมร  เช่น   ก้าวเดิน  แบบฉบับ  ขนมนมเนย  โง่เขลา  งามลออ

                คำที่มาภาษาต่างประเทศกับคำภาษาต่างประเทศ  ได้แก่  คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตกับคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต  เช่น  สุขสันต์  ประหัตประหาร    เหตุการณ์   มิตรสหาย   อุดมสมบูรณ์

จากคำมูลก่อเป็นคำซ้อน

          ๑.  คำซ้อนที่เกิดจากคำมูล  ๒  คำ  เช่น  นิ่มนวล  ปากคอ  ขับขี่  แข่งขัน  ฟ้าฝน  หน้าตา  งอแง  เงียบเชียบ  ทดแทน  ประกวดประชัน  เมื่อยขบ  เมฆหมอก  ฝนฟ้า 

          ๒.  คำซ้อนที่เกิดจากคำมูล  ๓  คำ เช่น  ข้าวปลาอาหาร   ขนมนมเนย  ข้าทาสบริวาร  ห้างร้านบริษัท  ข้าวปลาอาหาร  ถนนหนทาง  ตลกขบขัน

          ๓.  คำซ้อนที่เกิดจากคำมูล  ๔  คำ เช่น  โง่เง่าเต่าตุ่น   กู้หนี้ยืมสิน  หนักเอาเบาสู้  ที่นอนหมอนมุ้ง  ยากดีมีจน  สิ้นไร้ไม้ตอก   ตอบบุญแทนคุณ 

          ๔.  คำซ้อนที่เกิดจากคำมูล  ๖  คำ เช่น  ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน  อดตาหลับขับตานอน   นอนกลางดินกินกลางทราย  คดในข้องอในกระดูก  

 

จุดประสงค์ของการซ้อนคำ  ก็คือเพื่อให้ได้คำใหม่  (คำซ้อน)

 

ลักษณะของคำซ้อนและวิธีการสร้างคำซ้อน 

    มี ๒ ลักษณะ ดังนี้

         .  ซ้อนเพื่อความหมาย   เป็นการนำคำที่มีความหมายสมบูรณ์มาซ้อนกันตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป  ทำให้เกิดคำที่ให้ความหมายที่คงที่ไล่เลี่ยกันทั้ง ๒ คำขึ้นไปหรือให้ความหมายที่กว้างออกไป

               ๑.๑  คำที่มีความหมายเหมือนกัน  เช่น  พัดวี  เพพัง  อุดหนุนจุนเจือ  เมื่อยขบ  ยากจน  ยาวนาน  ระกำลำบาก  สู้ทน  หลีกเลี่ยง

               ๑.๒  คำที่มีความหมายเป็นพวกเดียวกัน  เช่น  จานชาม  เจ็บปวด  ปิ้งย่าง  เนื้อตัว  ห้างร้าน  บ้านเรือน  แข้งขา  ตับไตไส้พุง  เสื้อแสง (แสง หมายถึง กางเกง)  ข้าวปลา  ปากฟันลิ้น  กายใจ  ดื่มกิน  ตอบแทน  อิจฉาริษยา

               ๑.๓  คำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกัน  เช่น  บ่าวสาว  พ่อแม่  พี่น้อง  ลูกหลาน  ผัวเมีย 

               ๑.๔  คำที่มีความหมายตรงข้ามกัน  เช่น  ผิดชอบ  ชั่วดี  เท็จจริง  แพ้ชนะ  สูงต่ำ  ดำขาว  ได้เสีย  หนักเบา 

          ๒.  ซ้อนเพื่อเสียง  เป็นการนำคำที่มีเสียงคล้ายกันมาซ้อนกัน  เพื่อให้ออกเสียงให้ง่ายฟังแล้วรู้สึกรื่นหู   ในกรณีนี้คำที่นำมาซ้อนกันนั้นอาจมีความหมายเพียงคำใดคำหนึ่งก็ได้  หรือมีความหมายทั้งสองคำก็ได้  วิธีการสร้างคำซ้อนเพื่อเสียง  ได้แก่

                ๒.๑  นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน  เสียงสระเดียวกัน  แต่เสียงตัวสะกดต่างกันมาซ้อนกัน  เช่น  ถากถาง  ทาบทาม  รวบรวม  ออดอ้อน

                ๒.๒  นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน  แต่เสียงสระต่างกันมาซ้อนกัน  เช่น  เก้งก้าง  คมคาย  จริงจัง  แชเชือน  ชักช้า  ซุกซน  ซับซ้อน  ซุบซิบ  ซุ่มซ่าม  โด่งดัง   ทนทาน  ทรวดทรง  ท้อแท้  ทอดทิ้ง  ทักท้วง  เบาบาง  ปัดเป่า  เนิ่นนาน  ยื้อแย่ง  ยิ่งยวด รวดเร็ว  สดใส  หมองมัว  หลักแหล่ง  เอวองค์

                ๒.๓  นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นต่างกัน  แต่มีเสียงสระเดียวกันมาซ้อนกัน  เช่น   จิ้มลิ้ม บ่าวสาว  อ้อมค้อม  อ้างว้าง

                ๒.๔  นำคำที่ไม่มีความหมายมาซ้อนกับคำที่มีความหมาย  เพื่อให้สะดวกในการออกเสียง  มักใช้ในภาษาพูดเท่านั้น  (จัดเป็นคำอุทานเสริมบทก็ใช่ครับ)  เช่น  กระดูกกระเดี้ยว  สัญญิงสัญญา  หนังสือหนังหา  ไม่กินไม่เกิน  ผู้หลักผู้ใหญ่

                ๒.๕   มีการเพิ่มพยางค์ลงในคำซ้อนเพื่อให้มีเสียงสมดุล  พยางค์ที่แทรกมักเป็น  “กระ”  เช่น

                        จุ๋มจิ๋ม        เป็น        กระจุ๋มกระจิ๋ม

                        ดุกดิก        เป็น        กระดุกกระดิก                         

                ๒.๖   ใช้สัมผัสในในการซ้อนคำเพื่อให้เกิดคำซ้อน ๔ และ ๖ พยางค์  เช่น  โง่เง่าเต่าตุ่น   กู้หนี้ยืมสิน  หนักเอาเบาสู้  ที่นอนหมอนมุ้ง  ยากดีมีจน   ระกำลำบาก  สิ้นไร้ไม้ตอก   ตอบบุญแทนคุณ  ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน  อดตาหลับขับตานอน   ทรัพย์ในดินสินในน้ำ  นอนกลางดินกินกลางทราย  คดในข้องอในกระดูก  

 

ความหมายของคำซ้อน 

       ความหมายของคำซ้อน  แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่

        ๑.   คำซ้อนที่มีความหมายคงเดิม   จะมีความหมายคงตามความหมายของคำที่นำมาซ้อน  เช่น   เกื้อหนุน  ข้าทาส  ข่มเหง  โง่เขลา  เจ็บปวด  ตอบบุญแทนคุณ  พัดวี  เพพัง  ทองคำ  ระกำลำบาก  เสื่อสาด  สูญหาย  อ้วนพี  อุดหนุนจุนเจือ  เป็นต้น

        ๒.   คำซ้อนที่มีความหมายใหม่  คำซ้อนที่มีความหมายใหม่มีหลายลักษณะ  เช่น

              ๒.๑   ความหมายแคบลง  คือ  มีความหมายที่เน้นคำใดคำหนึ่ง  ซึ่งจะเป็นคำหน้าหรือคำหลังก็ได้  เช่น  กัดกัน  ถนนหนทาง  เนื้อตัว  ท้องไส้  ปากคอ  หยิบยืม เป็นต้น

              ๒.๒   ความหมายกว้างขึ้น  คือ  มีความหมายรวมไปถึงอย่างอื่นที่มีลักษณะร่วมกันหรือจำพวกเดียวกัน  เช่น

                           เสื้อผ้า  หมายถึง  เครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ

                           พี่น้อง  หมายถึง  ทุกคนที่เกี่ยวข้อง

                           ถ้วยโถโอชาม  หมายถึง  ภาชนะใส่อาหารและสิ่งของอื่น ๆ

                           ตับไตไส้พุง  หมายถึง  อวัยวะภายใน  ไม่เฉพาะตับ  ไต  และไส้  เท่านั้น

                           เรือกสวนไร่นา  หมายถึง  พื้นที่สำหรับเพาะปลูก

               ๒.๓    ความหมายเชิงอุปมา  คือ  มีความหมายเปลี่ยนไป  เกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ในเชิงอุปมา  เช่น

                              ข้าวยากหมากแพง         หมายถึง    ภาวะขาดแคลนอาหาร

                              ครอบครอง                หมายถึง    ยึดถือไว้เพื่อตน

                              เจ้าบุญนายคุณ            หมายถึง    ผู้ที่มีบุญคุณ

                              เชิดชู                        หมายถึง    ยกย่อง, ชมเชย

                              ดูดดื่ม                       หมายถึง    อุ้มชู

                              ถากถาง                     หมายถึง    ค่อนว่า  มีเจตนาให้เจ็บใจ

                              ปากว่าตาขยิบ             หมายถึง    พูดอีกอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง

                              หนักแน่น                   หมายถึง    มั่นคง,  ไม่ท้อถอย,  ไม่โกรธง่าย

                              อุ้มชู                         หมายถึง    เลี้ยงดูอย่างยกย่อง, ประคับประคอง

                              เอียงเอน                    หมายถึง    ไม่เที่ยงตรง

          ดังนั้น  คำตัวอย่าง  “อิจฉาริษยา”  ที่นำมาให้ศึกษาในวันนี้  จึงจัดว่าเป็นคำซ้อนที่เกิดจากคำมูล ๒ คำ  เป็นการซ้อนคำเพื่อความหมายที่มีความหมายเป็นพวกเดียวกัน

          บล็อกการศึกษาออนไลน์เรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า  “คำซ้อน”เนื้อหาที่ได้พยายามเรียบเรียงสาระนี้ขึ้นมาใหม่เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษานี้  คงเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษานะครับ

 

เขียนโดย  ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

  ๑๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๗